ปลดล็อกศักยภาพบุคลากรและองค์กรด้วยมาตรฐานสากล

Share

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)  ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “อนาคตของการเรียนรู้คือการทำงาน แล้วจะพัฒนาทักษะการทำงานให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร” เมื่อปลายปี 2566

บทความดังกล่าวสามารถสรุปสาระสำคัญได้ 3 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมไม่ได้เตรียมกำลังคนให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงการทำงานที่มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเด็นที่สอง การเรียนรู้จากการทำงานซึ่งมีพื้นฐานมาจากการปฏิบัติ และสอนในสภาพแวดล้อมแบบประยุกต์ จะช่วยปิดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากประเด็นแรกได้  และประเด็นที่ 3 ผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ธุรกิจ และนักการศึกษาจะต้องร่วมมือกันในการจัดให้มีการฝึกอบรมและการศึกษาที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์

“การเรียนรู้และการพัฒนา” ของผู้คนจึงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการพัฒนาบุคลากร  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานการจัดการด้านทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับการเรียนรู้และการพัฒนาของบุคลากรจำนวน 2 ฉบับ คือ ISO 30422,  Human resource management – Learning and development และ ISO/TS 30437, Human resource management – Learning and development metrics ซึ่งองค์กรสามารถนำไปใช้จัดการการเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการประเมินการเรียนรู้และการพัฒนาการทำงาน

มาตรฐาน ISO 30422,  Human resource management – Learning and development  ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแบบจำลองกระบวนการที่เป็นระบบสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่วางแผนไว้ซึ่งดำเนินการในสถานที่ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคคลในระดับบุคคล ระดับทีม หรือระดับองค์กร  โดยการเรียนรู้และการพัฒนาในองค์กรนั้น ได้รับอิทธิพลจากบริบทขององค์กร ลำดับความสำคัญ โอกาส กรอบการกำกับดูแล และทรัพยากรที่มีอยู่ รวมทั้งทรัพยากรทางเทคโนโลยีด้วย

 

การเรียนรู้และการพัฒนาองค์กรที่มีประสิทธิผลมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการ PDCA ผ่านการระบุและบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในระดับบุคคล ระดับทีม หรือระดับองค์กรที่จะช่วยให้บุคลากรมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร และสามารถส่งผลต่อผลลัพธ์ขององค์กร เช่น ความสามารถขององค์กรที่ดีขึ้น ความผูกพันของบุคลากร ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง และการรักษาบุคลากรเอาไว้

 

การนำมาตรฐาน ISO 30422 ไปใช้ในองค์กรจะช่วยให้ผู้จัดการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนรู้และการพัฒนาในองค์กรทุกประเภทและทุกขนาดมั่นใจได้ว่าจะมีการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด  ทำให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนรู้และพัฒนาสามารถวิเคราะห์ความต้องการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และลำดับความสำคัญขององค์กร  สามารถระบุจุดที่ต้องจัดการกับปัญหาการขาดแคลนทักษะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร  สามารถวางแผนกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาที่มีประสิทธิผลเพื่อตอบสนองความต้องการที่ระบุในระดับองค์กรและรายบุคคล

ช่วยอำนวยความสะดวกและส่งมอบกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะที่สอดคล้องกัน  ตลอดจนสามารถดำเนินการประเมินผลกระบวนการเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป

ส่วน ISO/TS 30437 เป็นข้อกำหนดทางเทคนิควิชาการที่เสนอกรอบการทำงานสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนาขององค์กรรวมทั้งแนวทางเกี่ยวกับวิธีการวัดผลโปรแกรมการเรียนรู้และการพัฒนาที่ช่วยให้เกิดความสอดคล้องโดยประกอบด้วยตัวชี้วัด50 ตัวและตัววัดชี้หลัก 19 รายการ และให้คำอธิบายของตัวชี้วัดแต่ละตัว นอกจากนี้ ยังมีเอกสารสรุปด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับตัวชี้วัดการรายงานรวมทั้งคำอธิบายของรายงานประเภทต่างๆ และคำแนะนำในการเลือกตามเหตุผลของผู้ใช้ในการวัดผล

องค์กรที่นำเอกสารฉบับนี้ไปใช้จะสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างสม่ำเสมอและเชื่อถือได้เพื่อประกอบการตัดสินใจและปรับปรุงประสิทธิผลโดยรวมของการลงทุนด้านการเรียนรู้และการพัฒนา ทำให้ประสิทธิภาพในการฝึกอบรมมีความชัดเจน และเพิ่มความน่าเชื่อถือ

มาตรฐานนี้มีความยืดหยุ่นที่โดดเด่นซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถปรับแต่งแนวทางการวัดผลและการรายงานสำหรับตัวชี้วัดการเรียนรู้และการพัฒนาได้ ขณะเดียวกันก็สามารถปฏิบัติตามแนวทางที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยถือเป็นกรอบการทำงานที่สนับสนุนและสะดวกในการใช้งาน

อนาคตของการทำงานที่ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานอย่าง ISO 30422 และ ISO/TS 30437 เพื่อออกแบบโปรแกรมการเรียนรู้และการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีแนวทางการดำเนินการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบเท่านั้น แต่ยังสามารถจัดเตรียมเครื่องมือให้กับองค์กรในการวัดผลกระทบและเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนอีกด้วย

ปลดล็อกศักยภาพของบุคลากรและองค์กรด้วยการนำมาตรฐานสากลนี้ไปใช้ ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถจัดเตรียมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และความต้องการของแต่ละบุคคล และปลูกฝังบุคลากรที่เตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อไป

ที่มา:     

1. https://www.iso.org/standard/68714.html
2.  https://www.iso.org/standard/76365.html
             

 3,267 ผู้เข้าชมทั้งหมด