ฟาร์มอัจฉริยะกับความท้าทายของเกษตรกรยุคใหม่

Share

ภาคการเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก  แต่สิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่เสมอมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ ความสมบูรณ์ของพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศ โรคภัยของพืชหรือสัตว์ การใช้สารเคมี ราคาผลผลิต ไปจนถึงความผันผวนของตลาด เป็นต้น  ความท้าทายอันซับซ้อนที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในภาคการเกษตร

สิ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ คือ การทำ “ฟาร์มอัจฉริยะ”  โดยเกษตรกรสามารถใช้เกษตรกรรมที่แม่นยำได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น โดรนเพื่อการเกษตร หุ่นยนต์ เซ็นเซอร์ไอโอที จีพีเอส และระบบข้อมูลการจัดการฟาร์ม (Farm Management Information System: FMIS) เป็นต้น  ดังตัวอย่างการใช้งานต่อไปนี้

  • โดรนเพื่อการเกษตร ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืช สภาพดิน และปัจจัยอื่น ๆ
  • วิทยาการหุ่นยนต์ ใช้เพื่อทำงานอัตโนมัติ เช่น การปลูก การรดน้ำ และการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
  • เซ็นเซอร์ไอโอที ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝน เป็นต้น
  • จีพีเอส ใช้เพื่อติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ฟาร์มและปศุสัตว์
  • ระบบข้อมูลการจัดการฟาร์ม (FMIS) ใช้เพื่อรวบรวม จัดเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

สำหรับข้อมูลที่เทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะนำไปใช้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ น้ำ ปุ๋ย และทรัพยากรอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถระบุและจัดการศัตรูพืชและโรคได้ รวมทั้งปรับปรุงผลผลิตของพืชผลต่างๆ ลดขยะจากอาหาร และปรับปรุงความยั่งยืนของการปฏิบัติทางการเกษตร

ฟาร์มอัจฉริยะ หรือเกษตรกรรมดิจิทัล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ในขณะที่เรามุ่งมั่นที่จะเลี้ยงดูประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เกษตรกรรมดิจิทัลนี้ก็ช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของเราด้วย ทำให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การทำฟาร์มอัจฉริยะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยืดหยุ่นในการผลิตทางการเกษตรได้ดีขึ้น ช่วยให้เราผลิตได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะรับประกันความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้โลกมีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย

แล้วฟาร์มอัจฉริยะคืออะไรกันแน่ การทำฟาร์มอัจฉริยะหมายถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลสมัยใหม่ และการวิเคราะห์ข้อมูลการเกษตรซึ่งหากทำอย่างถูกต้อง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหาร การปรับปรุงด้านความยั่งยืน ช่วยสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและยืดอายุให้กับโลกของเรา  ตลอดจนช่วยกำจัดขยะอาหาร

รายงานของไอเอสโอล่าสุดได้ให้นิยามการทำฟาร์มอัจฉริยะว่าเป็น “การตัดสินใจที่มีหลักการและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพได้หลายวัตถุประสงค์ในบริบทของความผันผวนทั่วโลก รวมทั้งความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือด้วย”

จะเห็นได้ว่าการทำฟาร์มอัจฉริยะมีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้น การลดต้นทุน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในการทำฟาร์มอัจฉริยะในตลาดโลกมีมูลค่า 12.5 พันล้านดอลล่าร์ และคาดว่าจะสูงถึง 31.5 พันล้านดอลล่าร์ภายในปี 2570 (ค.ศ.2027)

อย่างไรก็ตาม ในการทำฟาร์มอัจฉริยะก็มีความท้าทายหลักอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ ประการแรก ต้นทุนของเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะอาจมีราคาแพง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับเกษตรกรบางราย ประการที่สอง  การขาดข้อมูลจำนวนมากซึ่งมีราคาสูงและเป็นเรื่องยุ่งยากในการเก็บรวบรวม และประการสุดท้าย การขาดทักษะ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมวิธีการใช้เทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะ

ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้ผลักดันการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์เพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำฟาร์มอัจฉริยะ โดยได้สร้างที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ (SAG-SF) ขึ้นมา และได้มีการดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัจจุบัน ไอเอสโอมีมาตรฐานเกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นจำนวนมาก และไอเอสโอยังคงดำเนินการต่อไปอย่างมุ่งมั่น และต่อเนื่องเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นสำหรับการทำฟาร์มอัจฉริยะ

ที่มา:  

1. https://www.iso.org/smart-farming/smart-farming-data-driven

2. https://www.luckyworm.net/smart-farming/

3. https://www.depa.or.th/th/article-view/agriculture-alternative-way-of-survival

 2,201 ผู้เข้าชมทั้งหมด