ภาวะโลกร้อนบนโลกออนไลน์กับความจริงที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว

Share

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทยได้เผยแพร่ข่าว เรื่อง 5 ความเชื่อผิด ๆ เรื่อง  “โลกร้อน” พี่แพร่หลายอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากมายและส่งผลต่อมาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจล่าช้าออกไปอีกหากยังมีผู้คนหลงเชื่อข้อที่เป็น “เท็จ” โดยไม่รู้ว่าข้อที่เป็น “จริง” คืออะไร

ในโลกของโซเชียลมีเดียว่ากันว่าบางครั้งก็เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน สำหรับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนตามรายงานข่าวดังกล่าวมี 5 ข้อดังต่อไปนี้ คือ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องจริงแต่เป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นมา 2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกิดจากกระบวนการตามธรรมชาติโดยมนุษย์ไม่มีอิทธิผลหรือมีก็เพียงเล็กน้อย  3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของเรา หรือเป็นปัญหาของชาวตะวันตก 4) ระดับน้ำทะเลไม่ได้เพิ่มขึ้น มีผู้เข้าใจว่าระดับน้ำทะเลยังคงเหมือนเดิมแม้ว่าโลกจะร้อนขึ้น และ 5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสิ่งดีสำหรับพวกเรา เช่น อากาศที่อุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงในบางประเทศเป็นผลดีสำหรับภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาในอนาคต หรือพลังงานทดแทนจะได้ผลก็เฉพาะเวลาที่ไม่มีเมฆมากหรือมีลมแรงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงปัญหานี้เป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะส่งผลเสียต่อลูกหลานของเรา และพลังงานทดแทนนั้น ภาคอุตสาหกรรมกำลังพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ในการกักเก็บไฟฟ้าและการจัดการความต้องการในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งหมายความว่าถึงแม้ดวงอาทิตย์จะไม่ส่องแสงหรือบนท้องฟ้าจะไม่มีพายุ แต่เราก็ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้

ในโลกของความเป็นจริงแตกต่างจากโลกออนไลน์อย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นสาขาการวิจัยที่ล้ำหน้าที่สุดสาขาหนึ่งในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สาขาวิชานี้มีมานานกว่าศตวรรษและมีความรู้มากมายที่ทำให้มั่นใจได้ ดังจะเห็นได้ว่าโลกของเรามีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัยและติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถพิสูจน์ได้

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนว่าสิ่งนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้แก่ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ก๊าซพวกนี้เก็บพลังงานส่วนเกินไว้ในชั้นบรรยากาศโลก และส่งผลให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นกว่าเดิม ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่มหาสมุทรกำลังร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พืชและสัตว์ต่าง ๆ กำลังจะสูญพันธุ์ หรือการผลกระทบต่อแหล่งอาหาร

การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จับต้องและสังเกตได้ และแน่นอนว่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศได้ศึกษาและบันทึกไว้อย่างกว้างขวาง คลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นพ้องต้องกันว่ามนุษย์เราต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีรายงานการสังเคราะห์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ได้ยืนยันอย่างแน่ชัดว่ากิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก

การประเมินอย่างครอบคลุมของ IPCC เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายร้อยคนจากทั่วโลก พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญหลายพันคน และได้รับการรับรองโดยรัฐบาลของทุกประเทศในโลก

เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ธุรกิจและองค์กรที่ต้องการมีส่วนสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน สามารถนำแนวทาง มาตรฐานสากล หรือข้อกำหนดที่มีส่วนในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิผลได้

สำหรับท่านที่สนใจความรู้หรือบริการด้านความยั่งยืน  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: VVD@masci.or.th 

ที่มา: 1. https://www.bbc.com/thai/articles/cd1p2zre5dno
2.
https://www.wwf.org.uk/updates/here-are-10-myths-about-climate-change

 652 ผู้เข้าชมทั้งหมด