มาตรการ CBAM เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

Share

ก้าวสู่เส้นตายที่อียูหรือสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการ CBAM ไว้ว่าช่วง 3 ปีแรกนับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป สินค้านำเข้าของผู้ส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียูที่มีมูลค่าสูงกว่า 150 ยูโรในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยังอียูโดยยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวได้แก่  ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม

มาตรการ CBAM เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ซึ่งเป็นแพ็คเกจนโยบายและกฎหมายลดคาร์บอนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอียูเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายใน ปี 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2553 (ค.ศ.1990) และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050)

มาตรการ CBAM ได้มีการนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมของต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในอียูที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System: EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกอียูผ่านการปรับราคาของคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของอียูดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ อีก 2 ปีข้างหน้า คือ ภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) อียูจะพิจารณาผลการดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะพิจารณาบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 2569 (ค.ศ.2025) เป็นต้นไป รวมถึงการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น

นอกจากนี้ อียูจะลดบทบาทของระบบ EU ETS ลงจนสิ้นสุดลงภายในปี 2577 (ค.ศ.2034) ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังอียูจึงควรเตรียมความพร้อมด้านระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของตนเองตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดำเนินมาตรการ CBAM ของอียู

สำหรับมาตรการ CBAM จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2569 ซึ่งจะต้องมีการรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี

ผู้ส่งออกของไทยไปยังอียูในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สามารถรองรับมาตรการดังกล่าวเพื่อรักษาลูกค้าเดิมไว้และขยายตลาดออกไปหากประเทศอื่น ๆ ดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกับอียู เช่น ในสหรัฐอเมริกา วุฒิสภากำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่คล้ายกับของอียูที่เรียกว่า US-CBAM ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 เช่นกัน โดยเบื้องต้นจะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้ ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์โรงกลั่น ปิโตรเคมี กรดอะดิปิก ผลิตภัณฑ์แก้ว กระดาษและเยื่อกระดาษ และเอทานอล

ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆ จึงสามารถเปลี่ยนวิกฤตของมาตรการ CBAM ให้กลายเป็นโอกาสเพื่อรักษาและขยายฐานตลาดในอียู และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแรกของมาตรการซึ่งผู้ส่งออกยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมได้

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการทวนสอบรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรตามมาตรฐาน ISO 14064-1 และระดับโครงการตามมาตรฐาน ISO 14064-2 สามารถขอรับบริการได้จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) เพื่อพร้อมรับมาตรการ CBAM ของอียู และมาตรการ CBAM ของสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการจัดการด้านสิ่งแดล้อมที่ส่งเสริมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ที่มา: 1. https://www.foodfocusthailand.com/news/cbam2023
       2. https://www.krungsri.com/en/research/research-intelligence/cbam-2023

 1,278 ผู้เข้าชมทั้งหมด