“มาตรฐานฟาร์มอัจฉริยะ” เพื่ออนาคตของเกษตรกร

Share

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยในการทำฟาร์มอัจฉริยะจะช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการเกษตร เพื่อให้สามารถสร้างเครือข่ายการทำงานได้ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าด้านการเกษตร  ซึ่งมาตรฐานและข้อกำหนดเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างเช่น การระบุอินเตอร์เฟซและรูปแบบข้อมูลที่เหมือนกันและอนุญาตให้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบเปิด

ดังนั้น จึงเป็นจุดที่มาตรฐานสากลเกี่ยวกับการทำฟาร์มอัจฉริยะจะเข้ามามีบทบาท โดยมีการดำเนินงานใหม่ในรูปแบบของแผนงาน เพื่อระบุความต้องการที่มีอยู่และทิศทางของการพัฒนามาตรฐานในปีต่อๆ ไปสำหรับภาคเกษตรกรรม

ไอเอสโอเป็นองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน มีสมาชิกจากหน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติทั่วโลกรวม 169 หน่วยงาน และอำนวยความสะดวกในการพัฒนามาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับตลาดโดยสมัครใจ ซึ่งสนับสนุนนวัตกรรม ความยั่งยืน และการค้าโลกผ่านเครือข่ายทั่วโลก

ส่วน DIN เป็นสถาบันมาตรฐานแหงชาติของประเทศเยอรมนี มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานในเยอรมนีและทั่วโลกในฐานะพันธมิตรสำหรับอุตสาหกรรม การวิจัย และสังคมซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสามารถทางการตลาดด้วยแนวทางเป็นนวัตกรรมผ่านการมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นในหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของธุรกิจและสังคม หรือในบริบทของโครงการวิจัยโดยมีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 36,500 คนจากภาคอุตสาหกรรม การวิจัย การคุ้มครองผู้บริโภค และภาครัฐได้ใช้เชี่ยวชาญในการทำงานโครงการกำหนดมาตรฐานที่ DIN จัดการดำเนินงาน

ไอเอสโอ ได้ร่วมกับ DIN นำเสนอแผนงานด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะในงาน Agritechnica ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ระหว่างวันที่ 12 ถึง 18 พฤศจิกายน 2566 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ทั้งสององค์กรจะจัดงานแสดงร่วมกันในฮอลล์ 15 (Stand J37) ซึ่งแสดงให้เห็นคุณค่าของมาตรฐานและข้อกำหนดตลอดห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรทั้งหมด

แผนงานมาตรฐานด้านการเกษตรอัจฉริยะ
แผนงานมาตรฐานด้านการเกษตรอัจฉริยะได้รับการพัฒนาโดย ISO Strategic Advisory Group (SAG) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอภายใต้การนำร่วมกันของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (ANSI) และ DIN ซึ่งเป็นสมาชิกของไอเอสโอที่เกี่ยวข้องสำหรับสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ในส่วนหนึ่งของงานนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 150 คนจาก 20 ประเทศได้วิเคราะห์ภาพรวมการกำหนดมาตรฐานตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหารทั้งหมด มีการตรวจสอบหัวข้อต่างๆ 9 หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ได้แก่ การผลิตพืชผล ปศุสัตว์ การทำฟาร์มในเมือง คำศัพท์และอรรถศาสตร์ (Semantics) ด้านสังคม ห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม การปรับตัวของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมและข้อมูล (Environment and Data)

ส่วนสำคัญของแผนงานคือข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมสำหรับโครงการกำหนดมาตรฐานใหม่ทั่วทั้งห่วงโซ่การเกษตรและอาหารตลอดจนคำแนะนำเชิงโครงสร้างสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนามุ่งเน้นไปที่ความหมายทางการเกษตรที่สม่ำเสมอและข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับระบบที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในภาคเกษตรกรรม สิ่งสำคัญหลักอยู่ที่การสร้างมาตรฐานประเภทข้อมูลการเกษตร โดยมีการสร้างทะเบียนประเภทข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งจะสร้างสถาปัตยกรรมอ้างอิงข้อมูลแบบครบวงจรในห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตร

ในช่วงท้ายของการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับการทำฟาร์มอัจฉริยะ คริสตอฟ วินเทอร์ฮอลเตอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร DIN และรองประธานด้านนโยบายของไอเอสโอได้กล่าวว่า “การกำหนดมาตรฐานสามารถช่วยควบคุมศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าทางการเกษตรและอาหารเกษตรได้อย่างเต็มที่ด้วยการพิจารณาที่ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการผลิตและการจำหน่ายอาหารตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำด้วย ตอนนี้เราสามารถให้คำแนะนำที่ครอบคลุมและมีโครงสร้างเกี่ยวกับความต้องการมาตรฐานที่จำเป็น และแปลงไปสู่โครงการที่เป็นรูปธรรมได้เป็นครั้งแรก”

เซอร์จิโอ มูจิก้า เลขาธิการของไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐานได้ให้ความเห็นว่า “ความร่วมมือระหว่างสถาบันและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับสาขาเกษตรกรรมอัจฉริยะที่กว้างขวางและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของไอเอสโอด้านฟาร์มอัจฉริยะทำให้สามารถรวบรวมแผนงานมาตรฐานสำหรับภาคเกษตรกรรมในระดับสากลได้เป็นครั้งแรก เรากำลังรอคอยที่จะเริ่มทำงานภายใต้คณะกรรมการด้านเทคนิคชุดใหม่ในต้นปี 2567 เพื่อทำให้แนวคิดเหล่านี้บรรลุผล”

ความร่วมมือระหว่างประเทศในการทำฟาร์มอัจฉริยะ
ไอเอสโอได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคชุดใหม่ (ISO/TC 347) เกี่ยวกับระบบอาหารเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกันในภาคเกษตรกรรม และเพื่อตอบสนองความต้องการที่ระบุไว้ในแผนงาน หน่วยงานมาตรฐานแห่งชาติของไอเอสโอทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมในงานนี้ได้ ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567

แผนงานมาตรฐานเกษตรอัจฉริยะถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนามาตรฐานสากลสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ มาตรฐานเหล่านี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะสามารถใช้งานร่วมกันได้ และเกษตรกรทั่วโลกที่นำมาตรฐานไปใช้งานจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

ที่มา: https://www.iso.org/news/supporting-agrifood-systems

 1,779 ผู้เข้าชมทั้งหมด