มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของคนทำงานด้านสุขภาพกายกับสุขภาพจิต

Share

จากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากกิจกรรมทางวิชาชีพมากกว่า 2.3 ล้านคน และมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากกว่า 300 ล้านครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทและองค์กรต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่อันที่จริงแล้ว อุบัติเหตุส่วนใหญ่เหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผลเสียจากกิจกรรมทางวิชาชีพและอุบัติเหตุดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการนำมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ และมาตรฐานสากลฉบับแรกของโลกที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อความปลอดภัยในการทำงานก็คือ มาตรฐาน ISO 45001,  Occupational health and safety management systems – Requirements with guidance for use นั่นเอง เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ระบุข้อกำหนดสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S) ซึ่งให้คำแนะนำในการใช้งานเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดหาสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพโดยสามารถป้องกันการบาดเจ็บและผลเสียต่อสุขภาพ ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ OH&S ในเชิงรุกด้วย

จากผลการสำรวจผู้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการ ปี 2564 (2021) ของไอเอสโอ  พบว่ามาตรฐาน ISO 45001 ยังคงเป็นมาตรฐานที่ติดอันดับ 1 ใน 3 มาตรฐานยอดนิยมของโลกซึ่งมีบริษัทและองค์กรต่าง ๆ นำไปใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 45001 เป็นอันดับ 3 ของโลก (อันดับ 1 ได้แก่ ISO 9001 และอันดับ 2 ได้แก่ ISO 14001) และยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรฐาน ISO 45001 เป็นมาตรฐานที่เหมาะกับทุกบริษัทและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ก็สามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้งานได้อย่างเป็นระบบและบูรณาการเข้ากับมาตรฐานสากลฉบับอื่นได้ง่ายโดยองค์กรสามารถนำไปใช้เป็นกรอบการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยให้สถานที่ทำงานมีความปลอดภัย และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพ และสุขภาพของบุคลากร

นอกจากนี้ มาตรฐาน ISO 45001 ยังมีส่วนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนของการหยุดงานและการสูญเสียการผลิต การลดต้นทุนด้านการประกันภัยและจำนวนวันทำงานที่สูญเสียไป การปรับคุณภาพของสินค้าหรือบริการ เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นการปกป้องทั้งบุคลากรและองค์กรให้มีความปลอดภัยในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม เรื่องของสุขภาพในการทำงานไม่จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องทางกายเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพจิตด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการมายืนยันเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงาน แต่แน่นอนว่าเรื่องของสุขภาพจิตที่ไม่ดีย่อมส่งผลต่อสมรรถนะการทำงานด้วย ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องจิตวิทยา คือ มาตรฐาน  ISO 45003, Occupational health and safety management – Psychological health and safety in the workplace – Guidelines ซึ่งให้แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพจิตในที่ทำงานหรือการจัดการความเสี่ยงทางจิตสังคม (Psychosocial risk) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S) ตามมาตรฐาน ISO 45001

การนำมาตรฐาน ISO 45003 ไปใช้ในองค์กรจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรและองค์กรในการปรับปรุงด้านการสรรหาและรักษาบุคลากร การมีส่วนร่วมของบุคลากร การปฏิบัติตามกฎหมาย การลดการขาดงานอันเนื่องมาจากความเครียด ภาวะหมดไฟในการทำงาน ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า  ลดอัตราการลาออกของบุคลากร ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  สนับสนุนความร่วมมือและการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งเพิ่มสมรรถนะการทำงานให้กับองค์กรด้วย

ทั้งนี้ ผลสำรวจของประเทศโปรตุเกสที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อปี 2563 (ค.ศ.2020) พบว่า 98% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีความตระหนักถึงคุณประโยชน์ของมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัย และ 75% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน ISO 45001

องค์กรจึงควรพิจารณานำมาตรฐาน ISO 45001 ไปใช้ร่วมกับมาตรฐาน ISO 45003 เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตลอดจนเพื่อประโยชน์อื่น ๆ อันเป็นการดำเนินการในเชิงรุกซึ่งจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิผลต่อไป

 

ที่มา: 1. https://www.iso.org/iso-45001-occupational-health-and-safety.html
2.
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2351978920301049

 1,981 ผู้เข้าชมทั้งหมด