“มาตรฐานไอเอสโอ” ผลักดันทุกภาคส่วนก้าวสู่เป้าหมาย SDGs

Share

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นวลีที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดีเพราะเป็นหลักการสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความตระหนักถึงพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันซึ่งทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาของแต่ละประเทศ โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงโลกของเราตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติให้สำเร็จภายในปี 2573 หรือ ค.ศ.2030 (2030 Agenda) ซึ่งหมายถึงการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ประการนั่นเอง

แผนปฏิบัติการตาม SDGs ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าจำเป็นต่อความยั่งยืนของโลกในอนาคต และต้องดำเนินการเพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง การขจัดความยากจน และการปกป้องโลก ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกองค์ประกอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่นและระดับประเทศ ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือบุคคลทั่วไป ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

กระบวนการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกัน มีการทำงานร่วมกัน และไอเอสโอมีส่วนสำคัญในการผลักดันกระบวนการนี้ด้วยการเผยแพร่มาตรฐานสากลและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปแล้วมากกว่า 22,000 ฉบับซึ่งแสดงถึงแนวปฏิบัติและกรอบการทำงานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกตามความร่วมมือระหว่างประเทศ

มาตรฐานสากลและเอกสารดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากความเห็นพ้องต้องกันและได้กลายเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับ

นวัตกรรมที่สร้างความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาล อุตสาหกรรม และผู้บริโภคมีส่วนร่วมในความสำเร็จของ SDGs ด้วย

ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรฐานสากลจึงมีอยู่ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลที่สามารถพึ่งพามาตรฐานไอเอสโอให้เป็นรากฐานที่มั่นคงในการสร้างนโยบายสาธารณะและมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย SDG เพิ่มเติมได้เป็นอย่างดี เช่น สิทธิมนุษยชน ประสิทธิภาพน้ำและพลังงาน และการสาธารณสุข เป็นต้น

มาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกนี้ยังช่วยให้รัฐบาลบรรลุพันธกรณีในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการบรรลุ SDGs ผ่านการนำมาตรฐานไอเอสโอไปใช้ซึ่งช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้โดยการจัดทำแนวทางและกรอบการทำงานในทุกเรื่อง ตั้งแต่สุขภาพของพนักงานและความเป็นอยู่ที่ดี การใช้พลังงาน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ซึ่งกล่าวได้ว่ามาตรฐานสากลสามารถสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้ว่าบนเว็บไซต์ของไอเอสโอมีการระบุว่ามาตรฐานไอเอสโอแต่ละฉบับมีส่วนทำให้บรรลุ SDGs ในเรื่องใดบ้าง เช่น ISO 50001, Energy Management Systems – Requirement with guidance to use มีส่วนในการสนับสนุนการจัดการพลังงานสะอาดและสามารถซื้อหาได้ (SDG7, Affordable and Clean Energy) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11, Sustainable Cities and Communities) การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (SDG12, Responsible Consumption and Protection) และปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG13, Climate Action) เป็นต้น

โดยรวมแล้ว SDGs จะมีส่วนสำคัญต่อความยั่งยืนสำหรับ 5 P ดังนี้ คือ People (ผู้คนกับการยุติความยากจนและศักดิ์ศรีมนุษย์) Planet (โลกกับการปกป้องให้มีการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน)  Prosperity (ความเจริญรุ่งเรืองกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ) Peace (ความสงบสุขกับการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน) และ Partnership (ความร่วมมือกันระดับโลกที่มีพื้นฐานของความสามัคคีและความเข้มแข็ง)

การมีส่วนร่วมใน SDGs นอกจากจะเป็นประเด็นสำคัญของผู้นำธุรกิจและผู้นำทางการเมืองแล้ว ยังเป็นประโยชน์หลายประการต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย เช่น ทำให้ความยากจนลดลง ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีน้ำที่สะอาดและอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเพื่อการบริโภค และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยในการใช้งาน เป็นต้น

นอกเหนือจากการมีส่วนร่วมใน SDGs ของภาคส่วนต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือกุญแจที่จะไขประตูไปสู่ SDGs โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งคือ “มาตรฐานสากล” นั่นเองที่จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเจริญเติบโตในทุกมิติอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป

ที่มา:

1. https://www.iso.org/files/live/sites/isoorg/files/store/en/PUB100429.pdf
2.
https://thailand.un.org/th/sdgs

 1,259 ผู้เข้าชมทั้งหมด