ยาก…แต่ต้องทำให้ได้ ร่วมกันก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero

Share

ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) โลกของเรามีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งมีความหมายว่าจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นและควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โลกของเราจะก้าวความท้าทายนี้ได้อย่างไรในสถานการณ์ที่มีความยากลำบากในปัจจุบัน

รายงานใหม่จาก World Economic Forum และ Boston Consulting Group อธิบายว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสด้านสภาพภูมิอากาศในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C ขณะนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุผล เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปและรัสเซียมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้วมากกว่า 2 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิของอาร์กติกก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส เมื่อถึงจุดนี้แล้ว การจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลง 7% ต่อปี (ซึ่งมากกว่าผลกระทบจาก COVID-19) ทุกๆ ปีจนถึงปี 2573 (ค.ศ.2030) ให้ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2566 นี้ยังคงคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และความคืบหน้าในการดำเนินการยังคงไม่เพียงพอในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นและนโยบายระดับชาติ   การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กร ไปจนถึงการขยายขนาดเทคโนโลยีสีเขียวและการจัดหาเงินทุน

หากวิถีการลดคาร์บอนของโลกเราไม่เปลี่ยนแปลง ความพยายามในการปรับตัวจะไม่เพียงพอในการรับมือกับอนาคตที่เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ Net Zero ไม่ว่าอุณหภูมิจะยังคงอยู่ที่ 1.5°C หรือไม่ก็ตาม ทุกๆ 10 องศานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างทวีคูณ ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเพิ่มความพยายามอย่างเต็มกำลังในการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความมุ่งมั่นและการกระทำยังไม่เพียงพอ
เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินงานตามเป้าหมาย Net Zero พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพียง 35% ที่มีพันธสัญญาในการปฏิบัติตามเป้าหมายภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และมีประเทศน้อยกว่า 10 % ที่ใช้นโยบายอย่างเข้มข้น  บริษัทต่างๆ น้อยกว่า 20% จากบริษัทชั้นนำ 1,000 บริษัทที่มีเป้าหมายร่วมในการมีส่วนควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่เกือบ 40% ไม่มีข้อผูกพันในเป้าหมาย Net Zero เลย เทคโนโลยีของการบรรเทาปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นมีประมาณ 55% ที่มีราคาที่แข่งขันได้ และการจัดหาเงินทุนเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศมีน้อยกว่า 50% โดยมีช่องว่างที่สำคัญคือเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีการเรียกร้องให้ประเทศที่มีรายได้สูงสนับสนุนการเงินและเทคโนโลยีให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำให้มากขึ้น

การดำเนินการแก้ไขด้านสภาพภูมิอากาศ
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องดำเนินการบรรเทาผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับลำดับความสำคัญในระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่

  1. ปลดล็อกข้อผูกพันและการดำเนินการระดับประเทศที่โดดเด่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขึ้นมาใหม่ การมีส่วนร่วมกับภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล
  2. ยกระดับการแข่งขันในการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านกลไกต่างๆ เช่น การกำหนดราคาคาร์บอน ระบบการค้าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลไกการปรับขอบเขตคาร์บอน การสนับสนุนความพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวในด้านธรรมชาติ อาหาร และการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกป่า และเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟูโดยประสานงานกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
  3. เสริมสร้างการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การอนุญาตที่มีความรวดเร็ว การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่จำเป็น การสนับสนุนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าถึงวัตถุดิบ และยกระดับทักษะแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมที่ใช้ฟอสซิล เป็นต้น
  4. เปลี่ยนการมุ่งเน้นขององค์กรไปสู่เป้าหมายที่โดดเด่นยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรเองและห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ซึ่งรวมถึงความโปร่งใสที่มากขึ้นในการลงทุนที่สำคัญ ความเสี่ยง และความคืบหน้าเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero

ท่ามกลางความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า  การบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจากทั่วโลก และสิ่งที่จะได้รับจากการบรรลุเป้าหมายร่วมกันคือการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน  การหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ  ตอนนี้เป็นเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในธุรกิจอุตสาหกรรมและองค์กรต่าง ๆ สามารถนำมาตรฐานสากลไปใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เวลานี้ อนาคตของโลกขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนแล้ว

ที่มา: https://www.iso.org/news/supporting-agrifood-systems

 1,579 ผู้เข้าชมทั้งหมด