ร่วมกันปลดล็อกและก้าวข้ามความท้าทายของ Net Zero

Share

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้เผยแพร่รายงาน Net-Zero Industry Tracker 2023 ฉบับใหม่ล่าสุดซึ่งได้วิเคราะห์ความคืบหน้าของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงรวมทั้งภาคการขนส่งทั่วโลกในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) โดยภาคส่วนนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

รายงานดังกล่าวระบุถึงจำเป็นในการหาแนวทางและดำเนินการในเชิงรุกที่มีความหลากหลายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เร่งการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน และระดมทุนที่จำเป็นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการกำหนดวาระในเชิงนโยบายที่มุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เป็นต้น

การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำเป็นต้องได้รับร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปรับการลดการปล่อยคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซสูงรวมทั้งภาคการขนส่งให้สอดคล้องกับแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยรายงานได้ระบุการค้นพบที่สำคัญ 7 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. การปล่อยก๊าซไม่สอดคล้องกับเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซสัมบูรณ์ (Absolute emissions) เพิ่มขึ้นอันมาเนื่องจากกิจกรรมและความต้องการที่เพิ่มขึ้น (การวัดการปล่อยก๊าซสัมบูรณ์จะมีการระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงเวลาที่กำหนด)
  2. ความจำเป็นในการลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานไฟฟ้า
  3. การรับเอาเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาใช้มีความล่าช้า เนื่องจากในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำไปใช้ (เช่น แหล่งพลังงานหมุนเวียน อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น)
  4. การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมีความล่าช้า การลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำได้รับความสนใจน้อยกว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น มีความเสี่ยงมากกว่าเพราะถูกมองว่าเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และผลตอบแทนไม่มีความแน่นอน เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น การคมนาคมขนส่ง) มักถูกมองว่ามีความสำคัญเร่งด่วนมากกว่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้คนมากกว่า
  5. ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยมลพิษต่ำกำลังเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคกำลังมองหาและซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคเองก็สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยมลพิษต่ำได้ง่ายจากมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่ธุรกิจได้รับการรับรองในธุรกิจก็สามารถพัฒนาและทำการตลาดผลิตภัณฑ์และบริการที่ปล่อยมลพิษต่ำตามเกณฑ์/มาตรฐานด้วย
  6. การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐทั่วโลกที่มุ่งไปสู่การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รัฐบาลกำลังให้สิ่งจูงใจทางการเงินให้กับธุรกิจที่ลงทุนในเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยก๊าซต่ำ เช่น การลดหย่อนภาษีและเงินอุดหนุน เป็นต้น และมีมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจเหล่านั้น รวมทั้งภาครัฐเองก็มีการลงทุนโดยตรงในเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย
  7. เงินทุนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้และการปรับปรุงสินทรัพย์แบบเดิม ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ และเพื่อปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ธุรกิจจำนวนมากก็ไม่มีแรงจูงใจทางการเงินที่ชัดเจนในการลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เนื่องจากมีต้นทุนสูงและผลตอบแทนอาจจะไม่แน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์

ท่ามกลางความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าในการบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์  ธุรกิจและองค์กรสามารถสร้างความก้าวหน้าได้ด้วยการนำศักยภาพของตนเองไปใช้  และสนับสนุนการทำงานเชิงนวัตกรรมร่วมกันระหว่างพันธมิตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะสามารถปูทางไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ยืดหยุ่นมากขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยการตัดสินใจนำมาตรฐานสากล  ข้อกำหนด หรือแนวทางที่เหมาะสมกับองค์กรเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก การนำมาตรฐาน ข้อกำหนดหรือแนวทางที่เหมาะสมไปใช้สามารถเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานด้วย

สำหรับธุรกิจและองค์กรที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปรวมทั้งภาคการขนส่งที่สนใจมาตรฐานด้านความยั่งยืน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: VVD@masci.or.th

ที่มา: 1. https://www.bbc.com/thai/articles/cd1p2zre5dno
2.
https://www.wwf.org.uk/updates/here-are-10-myths-about-climate-change

 867 ผู้เข้าชมทั้งหมด