วันขอบคุณพนักงานกับมาตรฐานไอเอสโอ

Share

ในการบริหารธุรกิจและองค์กร “ทรัพยากรบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ความสำคัญกับบุคลากรหรือพนักงานอย่างเป็นทางการ วันขอบคุณพนักงาน (Employee Appreciation Day) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2538 (ค.ศ.1995) โดยกำหนดให้เป็นวันศุกร์ต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

ดร.บ็อบ เนลสันเป็นผู้ริเริ่มให้มีวันขอบคุณพนักงานซึ่งได้เริ่มต้นจากการขายหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “1001 วิธีในการให้รางวัลพนักงาน” (1001 Ways to Reward Employees) โดยได้ร่วมกับบริษัทสำนักพิมพ์ของตนเองทำให้วันหยุดที่เป็นวันขอบคุณพนักงานปรากฏอยู่ในปฏิทินการทำงาน ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้ขายได้มากกว่าสองล้านเล่มและได้มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 25 ภาษารวมทั้งภาษาไทยในชื่อ “1001 วิธีชาร์จแบตพนักงาน”

วิธีการให้รางวัลพนักงานต่าง ๆ นั้น แน่นอนว่าจะทำให้พนักงานรู้สึกดี มีความกระตือรือร้นในการทำงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการแสดงความชื่นชมต่อพนักงานทำให้การมีส่วนร่วมในองค์กรเพิ่มขึ้นถึง 43% และทำให้ลดอัตราการหางานใหม่ของพนักงานลดลงถึง 56%

วันขอบคุณพนักงานเป็นวันที่ย้ำเตือนให้ธุรกิจและองค์กรตระหนักถึงการทำงานของพนักงานและการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่วันเดียวเท่านั้นที่มีการแสดงความขอบคุณพนักงาน แต่การรับรู้ต่อความสำคัญของพนักงานต้องมีความสม่ำเสมอและมีความจริงใจ ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด รวมทั้งมีความเข้าใจถึงความต้องการและสถานการณ์ของพนักงานด้วย

วันขอบคุณพนักงานถือเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจและองค์กรสามารถแสดงให้พนักงานเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของพนักงานที่ต่อความสำเร็จขององค์กร แต่ถ้ากล่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคล  โลกของเรามีเครื่องมือการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ มาตรฐานไอเอสโอโดยไอเอสโอได้พัฒนามาตรฐานและเอกสารที่ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวรวมทั้งระบบการจัดการองค์ความรู้รวมแล้วมากกว่า 40 ฉบับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้นำไปใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • ISO 10018, Quality management, Guidance for people engagement ซึ่งให้แนวทางในการทำให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดการคุณภาพขององค์กร เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและส่งเสริมความความสามารถของบุคลากรภายในระบบ
  • ISO 30401, Knowledge management systems Requirements ซึ่งให้แนวทางในการสร้าง นำไปใช้ ดูแลรักษา ทบทวน และปรับปรุงระบบการจัดการที่มีประสิทธิผลสำหรับการจัดการความรู้ในองค์กร
    ISO 30405, Human resource management – Guidelines on recruitment ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดึงดูด จัดหา ประเมิน และจ้างบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรไปพร้อม ๆ กับส่งเสริมประสบการณ์ที่ดีของผู้สมัครโดยเน้นไปที่กระบวนการและแนวปฏิบัติที่สำคัญ เช่น  การเตรียมการและการวางแผน   การจัดการขั้นตอนต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการทบทวนและการเรียนรู้
  • ISO 30408, Human resource management – Guidelines on human governance ซึ่งให้แนวทางด้านเครื่องมือ กระบวนการ และแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้เพื่อสร้าง รักษา และปรับปรุงการกำกับดูแลบุคลากรอย่างมีประสิทธิผลภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
  • ISO 30409, Human resource management – Workforce planning ซึ่งให้แนวทางและกรอบการทำงานสำหรับการวางแผนกำลังคนที่สามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการขององค์กรโดยไม่คำนึงถึงขนาด ประเภทหรือสาขาอุตสาหกรรม
  • ISO 30414, Human resource management – Guidelines for internal and external capital reporting ซึ่งให้แนวทางการรายงานทุนมนุษย์ทั้งภายในและภายนอก เพื่อพิจารณาและจัดสรรทุนมนุษย์ให้กับองค์กรอย่างโปร่งใส เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของบุคลากร
  • ISO 30415, Human resource management – Diversity and inclusion ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในด้านการยอมรับความหลากหลายของพนักงาน (เช่น เพศ เชื้อชาติ เป็นต้น) การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในองค์กร และการมีส่วนร่วมของพนักงาน

แม้ว่าการยกย่องชมเชยและเฉลิมฉลองพนักงานในวันที่กำหนดอย่างวันขอบคุณพนักงานจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิผลอย่างแท้จริงนั้น สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการกระทำเชิงสัญลักษณ์ก็คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งความชื่นชมอย่างแท้จริงและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความโปร่งใส และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วยการนำแนวปฏิบัติที่ดีที่และการนำเครื่องมืออย่างมาตรฐานไอเอสโอดังกล่าวไปใช้ในองค์กรอันจะทำให้มีสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีพลัง พร้อมที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ และนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนสำหรับทั้งองค์กรและพนักงานในท้ายที่สุด

ที่มา:   

1. https://www.aihr.com/blog/employee-appreciation-day/
2.
https://shorturl.at/hENQS

 764 ผู้เข้าชมทั้งหมด