เสาหลัก 6 ประการเพื่อเอไอที่เชื่อถือได้

Share

สถาบันมาตรฐานของประเทศฝรั่งเศส (AFNOR) ได้กล่าวถึงการพัฒนาเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยได้เสนอเสาหลัก 6 ประการซึ่งต้องนำทางเอไอไปพัฒนาเป็นมาตรฐานสากลที่สามารถสร้างรากฐานของความไว้วางใจและการกำกับดูแลได้เป็นอย่างดี

AFNOR ระบุว่าการรักษาความปลอดภัย การรับรอง และการสร้างระบบที่เชื่อถือได้โดยใช้เอไอ จะขึ้นอยู่กับ 3 เสาหลัก คือ การวิจัย การใช้งาน และการกำหนดมาตรฐานซึ่งมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบรรทัดฐานของความไว้วางใจที่มาพร้อมกับเครื่องมือและกระบวนการในการรับรองระบบที่สำคัญโดยใช้เอไอ

AFNOR ชี้ให้เห็นว่าการกำหนดมาตรฐานประกอบด้วยกฎระเบียบโดยสมัครใจซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ รวมกิจกรรมของตนไว้ในการดำเนินงานที่ทุกคนเข้าใจและยอมรับร่วมกัน การปฏิบัติตามกฎระเบียบจึงถือเป็นข้อสันนิษฐานด้านคุณภาพ การปฏิบัติงาน และความสามารถในการทำงานร่วมกัน ในขณะที่ยุโรปเองก็กำลังผลักดันไปสู่มาตรฐานที่เป็นไปในทางเดียวกัน ดังนั้น การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของบริษัทต่างๆ จะช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดเงื่อนไขของกฎระเบียบในอนาคตได้ ในกรณีนี้ การกำหนดมาตรฐานเอไอนั้น  AFNOR มองว่าเป็นการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับกฎระเบียบของยุโรปในอนาคตด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มีความจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือมีขั้นตอนที่สมเหตุสมผลสำหรับองค์กรที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในยุโรปตามพระราชบัญญัติการกำกับดูแลข้อมูลที่นำเสนอในเดือนพฤศจิกายน 2563 (ค.ศ.2020) ซึ่ง GDPR มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 (ค.ศ.2018) หรือแม้แต่การศึกษาบทบาทของเอไอในแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (European Green Deal) ซึ่งมุ่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50 – 55 ภายในปี 2573 (2030)

สำหรับเสาหลักประการแรกที่ AFNOR ส่งเสริมคือการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจ ซึ่งการใช้งานด้านนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากอัลกอริธึมเดียวกันสามารถออกแบบสำหรับการใช้งานเฉพาะได้ จากนั้นก็นำไปใช้กับความต้องการอื่นได้ในภายหลัง สิ่งที่ AFNOR ต้องการคือแคตตาล็อกขนาดใหญ่ประเภทหนึ่งซึ่งมีการอ้างอิงถึงการจัดตำแหน่งและการเชื่อมโยงกันของพื้นที่ต่างๆ จากนั้นก็จะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการวิเคราะห์เพื่อค้นหาความรับผิดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

เสาหลักประการที่ 2 เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านการกำกับดูแลและการจัดการ เอไอของบริษัทอาจได้รับคำเตือนว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงจะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยบังคับให้ต้องพึ่งพาคุณภาพและระบบการจัดการความเสี่ยง แต่ว่าอันตรายต่างๆ มีก็อยู่ไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของข้อมูลที่ไม่ดี การออกแบบที่ไม่ดี หรือคุณสมบัติที่ไม่ดี ดังนั้น ไอเอสโอจึงได้พัฒนามาตรฐานขึ้นมา 2 ฉบับ คือ ISO 42001 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพเอไอ และ ISO 23894 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงเอไอ มาตรฐานทั้งสองฉบับนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับ ISO 9001 การบริหารงานคุณภาพ และกลายเป็นมาตรฐานยุโรปที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เสาหลักประการที่ 3 คือการพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลและการรายงาน พูดง่ายๆ ก็คือการพิจารณาสถานที่ของมนุษย์ในห่วงโซ่ทั้งหมด ในเรื่องนี้ พบว่าคือทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำให้ควบคุมได้  การกำกับดูแลซึ่งสังเกตได้ และการรายงาน เช่น การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ให้กับบุคคลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที และทันเวลา กล่าวโดยสรุปคือ การสร้างกรอบการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าระบบเอไอทำงานให้เราได้ตามที่คาดหวัง

เสาหลักประการที่ 4 ถือเป็นพื้นฐานสำคัญเนื่องจากเกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านทักษะของหน่วยรับรอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศเกี่ยวกับความไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับระบบที่มีความเสี่ยงสูง เรื่องทางเทคนิควิชาการของเอไอจะนำไปสู่ความต้องการทักษะที่เพิ่มขึ้นของหน่วยรับรองซึ่งจะต้องจ้างและทำการฝึกบุคลากรที่มีคุณภาพ และสามารถเข้าถึงวิธีการและเครื่องมือสำหรับการประเมินระบบเอไอเฉพาะด้านสำหรับกิจกรรมในภาคส่วนนั้น ๆ ได้

เสาหลักประการที่ 5 เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของเครื่องมือเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจำลอง ซึ่งถือว่าจำเป็นสำหรับข้อกำหนด การออกแบบ การฝึกอบรม การตรวจสอบ การทดสอบ คุณสมบัติ และการตรวจสอบระบบที่ใช้เอไอ หากแนวโน้มของเอไอยังคงดำเนินต่อไป เครื่องมือเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับระบบเอไอนั่นเอง และจำเป็นต้องมีมาตรฐานด้วย

เสาหลักประการสุดท้าย คือการมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้การเข้าถึงและใช้งานมาตรฐานง่ายขึ้น AFNOR กล่าวว่ามีความตระหนักถึงความซับซ้อนของกฎระเบียบและบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องกับเอไอซึ่งก่อให้เกิดความกลัวซึ่งถือว่าถูกต้องตามกฎหมายในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก AFNOR จึงต้องการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำงานด้านนวัตกรรมมากขึ้นเพื่อมีส่วนร่วมในกระบวนการของมาตรฐานและกฎระเบียบ เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรฐานนั้นจะใช้งานได้จริง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานนี้เป็นโครงการใหญ่ที่อาจใช้เวลาหลายปี และ AFNOR ตระหนักดีถึงความจำเป็นในกลยุทธ์การกำหนดมาตรฐานที่จะต้องใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ มีรูปแบบที่เข้ากันได้ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ในที่สุดแล้ว บุคคลหรือองค์กรอาจยังไม่มั่นใจว่าจะเชื่อถือเอไอได้เพียงใด (เนื่องจากเอไอเป็นระบบอัจฉริยะซึ่งถึงแม้จะผ่านการฝึกฝนในสถานการณ์ต่าง ๆ มาแล้ว แต่ก็แตกต่างจากมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้เพราะมีประสบการณ์ร่วมกัน รวมทั้งการไตร่ตรองด้านจริยธรรมก็มีความซับซ้อนด้วย)  ซึ่งก็อาจนำแนวทางบางอย่างไปใช้ได้ เช่น การทำให้ผู้คนที่อยู่ในระบบเอไอทำการตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานข้อมูลที่เที่ยงตรง เป็นต้น ทั้งนี้ นักวิจัยกำลังศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไขความกระจ่างในเรื่องนี้เพื่อที่จะเข้าใจความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเอไอ แล้วนำมาพัฒนากลยุทธ์การบรรเทาผลกระทบ และจัดเตรียมทักษะให้กับบุคคลและองค์กรเพื่อที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับเอไอในอนาคตต่อไป

ที่มา: 1. https://next.ink/1975/intelligence-artificielle-axes-normalisation-lafnor-pour-ia-confiance/
        2. https://www.scientificamerican.com/article/how-can-we-trust-ai-if-we-dont-know-how-it-works/

 1,132 ผู้เข้าชมทั้งหมด