แนวทางการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้กับ 10 แนวโน้มที่น่าจับตามอง

Share

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประกาศใช้มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.2 เล่ม 2-2564) ซึ่งระบุข้อกำหนดสำหรับการดำเนินการระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มีโครงสร้างของมาตรฐานเช่นเดียวกับมาตรฐานที่เป็นระบบการจัดการ และเน้นเรื่องของประเด็นของการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด เข้าใจและรักษาระบบให้ได้ประโยชน์ในวงกว้างโดยร่วมมือกับองค์กรอื่น และดูแลผลกระทบกิจกรรมองค์กรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

หลายองค์กรอาจพบว่าองค์กรของตนเองได้มีการดำเนินการบางอย่างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่บ้างแล้วจากการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด การสร้างคุณค่าและหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้อยู่ในระบบให้มากที่สุด และการปล่อยของเสียออกจากระบบให้น้อยที่สุด แต่อาจจะยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบและครอบคลุม เช่น  การทบทวนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรเพื่อสร้างคุณค่า  ความร่วมมือภายในและภายนอกองค์กรและการมองระบบในวงกว้างและผลกระทบของกิจกรรมองค์กร เป็นต้น

เพื่อสนับสนุนการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและมาตรฐาน มตช.2 เล่ม 2 ไปใช้อย่างมีประสิทธิผล จึงขอนำเสนอ 10 แนวโน้มในปี 2567 ที่น่าจับตามองของการนำแนวทางที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้งาน เพื่อเพิ่มคุณค่า คงคุณค่า และฟื้นฟูคุณค่าของทรัพยากร ดังต่อไปนี้

  1. จากขยะสู่ทรัพยากร ในปีนี้ สิ่งที่เป็นของเสียหรือขยะ จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า องค์กรและบริษัททั่วโลกกำลัง เปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ นับตั้งแต่สิ่งทอ แฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดขยะจากการฝังกลบเท่านั้น แต่ยังลดความต้องการทรัพยากรใหม่ด้วย
  2. Upcycling ไม่ทิ้งให้สูญเปล่าแต่นำมาใช้ซ้ำด้วยวัตถุประสงค์ใหม่ นี่คือพลังแห่งการใช้ซ้ำด้วยวัตถุประสงค์ใหม่อันเป็นการปลุกชีวิตใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ แนวโน้มนี้คือการเปลี่ยนสิ่งของที่ไม่ต้องการแล้วให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีคุณค่า วัสดุทั่วไปสำหรับการอัปไซเคิล เช่น กระดาษแข็ง แก้ว พลาสติก โลหะ ไม้ กระดาษ ผ้า และยาง เป็นต้น ซึ่งช่วยทำให้เกิดกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ด้วย
  3. ใช้ประโยชน์ IoW จาก IoT สิ่งนี้ถือเป็นการปฏิวัติทางดิจิทัลในการจัดการขยะ กล่าวคือ “อินเทอร์เน็ตของเสีย” (IoW) สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอโอที (IoT) ได้ เพื่อเปลี่ยนการจัดการขยะแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝังเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารลงในถังขยะและระบบรวบรวม สร้างข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับระดับของเสีย ประเภท และส่วนประกอบ ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและมีอนาคตที่ยั่งยืน
  4. Product-as-a-Service (PaaS) โมเดลธุรกิจที่ช่วยให้ชีวิตผู้บริโภคสะดวกขึ้น เป็นบริการนำเสนอวิธีการพิเศษในการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบนี้ ธุรกิจยังคงรักษาความเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ของตนเอาไว้ในขณะที่ผู้บริโภคชำระค่าใช้จ่ายผลิตภัณฑ์  ซึ่งความก้าวหน้าในด้านข้อมูลและเทคโนโลยีการติดตามการใช้งานทำให้โมเดลธุรกิจนี้มีศักยภาพมากขึ้น
  5. วัสดุชีวภาพคือคำตอบของธรรมชาติสำหรับความยั่งยืน การใช้วัสดุจะพัฒนาไปสู่กระบวนการที่เป็นวัฏจักรซึ่งทรัพยากรหมุนเวียนและของเสียจะจุดประกายในการสร้างสรรค์วัสดุชีวภาพชนิดใหม่ ในระบบนี้ วัสดุชีวภาพจะมีการนำกลับมาใช้ใหม่ ซ่อมแซม รีไซเคิล และนำกลับมาผลิตใหม่อย่างสม่ำเสมอ  ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในสังคมหมุนเวียนจะต้องขยายไปให้ไกลกว่าการเลือกใช้วัสดุเพียงอย่างเดียวซึ่งการตัดสินใจทุกครั้งในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์และที่เกี่ยวข้องกับการหมุนเวียน ควรอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาที่สมดุลระหว่างความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
  6. ปรับปรุงของเก่าให้กลายเป็นของใหม่ บริษัทต่างๆ กำลังนำผลิตภัณฑ์เก่าไปปรับปรุงใหม่ แล้วนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดของเสียเท่านั้น แต่ยังช่วยอนุรักษ์พลังงานและวัสดุที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย การผลิตซ้ำเป็นกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่พิถีพิถันในการฟื้นฟูผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบที่เคยขายไปแล้วและต่อมาใช้งานไม่ได้  ให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมือนใหม่หรือดีกว่าเดิม กระบวนการนี้แตกต่างจากการรีไซเคิลหรือการซ่อมแซมเพียงอย่างเดียว และรวมถึงการรับประกันที่รับประกันประสิทธิภาพและคุณภาพในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งนี้จะมีข้อดี แต่โดยทั่วไปแล้ว การขาดความตระหนักรู้ในหมู่ตัวแทนจำหน่าย ลูกค้า และผู้กำหนดนโยบายอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตซ้ำได้
  7. บล็อกเชนเพื่อความโปร่งใส เทคโนโลยีบล็อกเชนมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามวัสดุและส่วนประกอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งช่วยให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตซ้ำ และรีไซเคิลได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มูลนิธิ Ellen MacArthur ได้กล่าวถึงศักยภาพของบล็อกเชนว่ามีส่วนสนับสนุนการฟื้นฟูระบบธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น บริษัทจัดการน้ำและขยะสุเอซมีการใช้บล็อกเชนเพื่อจัดทำเอกสารแต่ละขั้นตอนในกระบวนการถ่ายโอนตะกอนจากการบำบัดน้ำเสียไปสู่การใช้งานทางการเกษตรอย่างพิถีพิถัน

บทบาทของบล็อกเชนในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นมุ่งเน้นไปที่การติดตามวัสดุที่ไม่ใช่ทางชีวภาพ เมื่อรวมเข้ากับระบบ GPS หรือ IoT แล้ว บล็อกเชนช่วยให้ผลิตภัณฑ์สามารถติดตามเส้นทางข้อมูลเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและทันการณ์

  1. วัฒนธรรมที่ยอมรับเรื่องการซ่อมแซม แม้ว่าแต่เดิมนั้น การซ่อมแซมมักถูกมองว่าเป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ตามวาทกรรมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน  แต่ในปี 2567 นี้ การซ่อมแซมจะถูกมองว่าเป็นคุณลักษณะที่เป็นระบบอย่างแม่นยำมากขึ้นซึ่งครอบคลุมถึงการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและการซ่อมแซมสิ่งของที่ใช้งานอยู่โดยขยายแนวคิดและมุมมองให้กว้างไกลไปกว่าเพียงแค่การฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ให้กลับสู่สภาพดั้งเดิม  เพราะเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความผูกพันที่ลึกซึ้งกับสิ่งของของผู้คนที่ได้รับการยืดอายุการใช้งานออกไป
  2. การกู้คืนทรัพยากรให้โลก การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ครอบคลุมการรีไซเคิลและสิ่งที่เรียกว่า “โลจิสติกส์ย้อนกลับ” ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (เป็นการขนส่งจากจุดบริโภคย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา พบได้ในการส่งคืน ซ่อมแซมสินค้ารวมทั้งการนำสินค้าและบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกต้อง)  ซึ่งมอบสิ่งจูงใจทางการเงินเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงสุดภายในลำดับชั้นของเสีย มูลนิธิ Ellen MacArthur ได้เปิดเผยถึงโอกาสสำคัญในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบัน มีเพียง 5% ของมูลค่าวัสดุของสินค้าที่ผลิตเท่านั้นที่ถูกเรียกคืน รัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป กำลังดำเนินการเพื่อลดขยะ ในปี 2562 (ค.ศ.2019) การรีไซเคิลขยะชุมชน (คิดเป็น 40% ของขยะทั้งหมด) อยู่ที่ 47% โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60% ภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) และ 65% ภายในปี 2030 (ค.ศ.2573)นอกจากนี้ วัสดุรีไซเคิลยังมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ราคาพรีเมียมด้วย เนื่องจากข้อกำหนดด้านเนื้อหาทางกฎหมายและเป้าหมายการรีไซเคิลขององค์กรได้เพิ่มความต้องการปัจจัยการผลิตรีไซเคิลให้มากขึ้น
  3. ประสิทธิภาพของวัสดุ ถือเป็นหลักปฏิบัติในการสร้างผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุให้น้อยที่สุดเพื่อมุ่งลดของเสียจากการผลิต ซึ่งบริษัทที่ใช้โมเดลการดำเนินงานแบบลีนได้ใช้หลักการนี้เพื่อมุ่งลดของเสียจากการผลิตมานานแล้ว แต่ความก้าวหน้าด้านเอไอและเทคโนโลยีล้ำสมัยก็ได้มีส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ และโอกาสใหม่ ๆ อีกมากมายด้วย

สำหรับท่านที่สนใจความรู้หรือบริการเกี่ยวกับมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรับรองระบบ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: SCD@masci.or.th 
ที่มา:

1. http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/circular-design-2/
2.
https://shorturl.asia/fmvhZ

 1,163 ผู้เข้าชมทั้งหมด