แนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของไอเอสโอ

Share

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 (ค.ศ.2022) ไอเอสโอหรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ได้เปิดตัวเอกสาร IWA 42, Net zero guidelines ในการประชุม COP27 ซึ่งให้หลักการและคำแนะนำที่ไอเอสโอได้พัฒนาขึ้นมาจากการระดมความคิดของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกว่า 1,200 ราย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้องค์กรและบริษัทต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้  และมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ

การนำมาตรฐาน นโยบาย และกฎระเบียบระดับประเทศและระหว่างประเทศไปใช้ (เช่น มาตรฐานไอเอสโอ และเอกสาร IWA 42)  สามารถช่วยให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกดำเนินการเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ได้

เอกสาร IWA 42, Net zero guidelines ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีส่วนสำคัญร่วมกันและเท่าเทียมกัน และตระหนักถึงความสามารถของแต่ละองค์กรในการบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ของโลก เมื่อนำเอกสารนี้ไปปรับใช้ร่วมกับแนวทางเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง จะได้รับแนวทางเป็นอย่างดีสำหรับองค์กรที่ต้องการกำหนดกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยได้ระบุหลักการสำคัญ 10  ประการที่ธุรกิจควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้

  1. ความสอดคล้องกัน (Alignment) การดำเนินการและเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศขององค์กรและบริษัทควรสอดคล้องกับนโยบายในปัจจุบัน เช่น ข้อตกลงปารีส  นโยบายขององค์กรและบริษัท เป็นต้น
  2. ความเร่งด่วน (Urgency) แม้ว่าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จะมีเส้นตายอยู่ที่ปี 2593 (ค.ศ.2050) แต่องค์กรและบริษัท ควรตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) และควรกำหนดเป้าหมายระยะสั้นทุกๆ 2 ถึง 5 ปี
  3. เป้าหมายสูงสุดหรือความทะเยอทะยาน (Ambition) องค์กรและบริษัทควรตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด หากองค์กรและบริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเท่าใด เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ก็ควรจะมีสูงขึ้นเท่านั้น
  4. การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritization) สิ่งนี้คล้ายสถานการณ์ในการทำความสะอาดห้อง ก่อนอื่น เราต้องกำจัดสิ่งสกปรกหรือการปล่อยมลพิษที่มองเห็นได้ทั้งหมดโดยใช้กลยุทธ์การลดมลพิษเสียก่อน แล้วจึงซับเอาฝุ่นที่หลงเหลือหรือการปล่อยสารตกค้างซึ่งหมายถึงการกำจัดออกไป ดังนั้น อันดับแรก องค์กรและบริษัทต้องมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อน เช่น การลดการใช้พลังงานและการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมการทำงานอย่างชาญฉลาดเพื่อลดการเดินทางเพื่อธุรกิจ เป็นต้น แล้วสร้างความมั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานขององค์กรและบริษัทไม่ได้มีส่วนในการปล่อยมลพิษแล้วจึงจัดการกับการปล่อยก๊าซที่ตกค้างอยู่
  5. การตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และความรู้ในท้องถิ่น (Decision-making based on scientific evidence and indigenous knowledge) ตามหลักการนี้ องค์กรและบริษัทควรกำหนดเป้าหมายเป็นศูนย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ และเลือกโครงการชดเชยคาร์บอนที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
  6. แนวทางความเสี่ยง (Risk-based approach) กลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรและธุรกิจอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงบางประการซึ่งควรประเมินและดำเนินการบรรเทาผลกระทบเพื่อลดความเสี่ยงลง เช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ การปกป้องต้นไม้ในที่ใดที่หนึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงการตัดไม้หรือการขยายพื้นที่ทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเหล่านี้สามารถเปลี่ยนไปเป็นป่าใกล้เคียงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อื่นได้ โดยทั่วไปเรียกว่าการรั่วไหลของคาร์บอน นอกจากนี้ โครงการอนุรักษ์ป่าไม้บางโครงการมีความเสี่ยงต่อความคงทนต่ำ เนื่องจากไม่สามารถรับประกันได้ว่าต้นไม้จะคงอยู่ตรงนั้นตลอดไป แม้ว่าความคงทนยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนรายงานว่าคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้คุณภาพสูงควรรับประกันความคงทนของต้นไม้อย่างน้อย 100 ปี เมื่อตัดสินใจเลือกโครงการชดเชยคาร์บอน สิ่งสำคัญคือต้องเลือกโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
  7. ความน่าเชื่อถือ (Credibility) การดำเนินการบรรเทาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศสามารถแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงและมีคุณภาพสูง โดยจัดลำดับความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาคส่วน และสามารถตรวจสอบได้โดยใช้มาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการทวนสอบโดยบุคคลที่สามจะอยู่ในมาตรฐาน ISO 14064-1, ISO 14064-2, ISO 14064-3 และ ISO 14065
  8. ความเสมอภาคและความยุติธรรม (Equity and justice) เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SGD) กลยุทธ์ net zero ก็ควรลดความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างยุติธรรม เช่น องค์กรขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จำเป็นต้องมี “ส่วนแบ่งที่ยุติธรรม” ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งมากกว่าของธุรกิจขนาดเล็กที่ดำเนินงานในประเทศกำลังพัฒนาและปล่อยมลพิษต่ำ เป็นต้น
  9. ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ (Transparency, integrity and accountability) ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างก็เรียกร้องให้องค์กรและบริษัทเปิดเผยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้นซึ่งก็ควรเผยแพร่รายงานอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อแบ่งปันความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์โดยรวมถึงข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจริงและเชื่อถือได้ วิธีการรวบรวมข้อมูล การคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจก และโครงการริเริ่มใหม่ๆ สำหรับปีต่อไป
  10. การบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์และความต่อเนื่อง (Achievement and continuation of net zero) ลองนึกถึงเครื่องเล่นกระดานหกหรือไม้กระดกที่เราเล่นกันสมัยเด็ก ๆ กระดานหกนี้เป็นตัวแทนของสภาพภูมิอากาศของโลก ด้านหนึ่งคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น และอีกด้านหนึ่งคือการเอาออกเพื่อดึงสภาพอกาศกลับคืนสู่สมดุล ฉันใดฉันนั้น จากการตัดสินใจดำเนินโครงการต่าง ๆ บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และความรู้ในท้องถิ่นตามหลักการของความเสมอภาคและความยุติธรรม จะทำให้มั่นใจว่ามีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปได้ และการปล่อยก๊าซตกค้างมีความสมดุลอย่างถาวรหรือมีการกำจัดในระยะยาวอย่างเพียงพอเพื่อถ่วงดุลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ท่านที่สนใจความรู้หรือบริการทวนสอบด้านความยั่งยืนของ MASCI รวมทั้งการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กร/โครงการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทวนสอบด้านความยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: VVD@masci.or.th 

ที่มา:

1. https://www.pledge.io/resources/blog/the-iso-net-zero-guidelines-7-questions-answered/
2. https://www.iso.org/obp/ui/en/#iso:std:iso:iwa:42:ed-1:v1:en

 706 ผู้เข้าชมทั้งหมด