แนะนำคณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอ

Share

ไอเอสโอทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานสากลเพื่อให้ทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยไอเอสโอได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนับตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างเกลียวสกรู (ISO/TC 001, Screw) ไปจนถึงเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกใส่ใจในปัจจุบันอย่างเศรษฐกิจหมุนเวียน (ISO/TC 323, Circular Economy) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นมาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและร่วมกันจัดเตรียม พัฒนา และรักษามาตรฐานให้มีความทันสมัยและยังคงเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน

คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานโดยสมัครใจ ปัจจุบัน ไอเอสโอมีคณะกรรมการวิชาการรวมทั้งสิ้น 348 คณะ แต่ละคณะทำหน้าที่ตามความเชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมาย  ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292, Security and resilience

คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292, Security and resilience ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม  2558 (ค.ศ.2015) และมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมากกว่า 50 ประเทศ  มีขอบข่ายการพัฒนามาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความยืดหยุ่นให้กับสังคมโลก   ปัจจุบัน คณะกรรมการนี้ได้พัฒนาและเผยแพร่มาตรฐานไปแล้วจำนวน 55 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานอีก 16 ฉบับ

ตัวอย่างมาตรฐานที่คณะกรรมการวิชาการ ISO/TC 292 ได้เผยแพร่และได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น
–   มาตรฐาน ISO 22301, Security and resilience, Business  Continuity Management Systems (BCMS), Requirements เป็นมาตรฐานที่ให้กรอบการทำงานสำหรับองค์กรในการวางแผน จัดทำ นำไปใช้ ดำเนินการ ติดตาม ทบทวน บำรุงรักษา และปรับปรุงระบบการจัดการที่จัดทำเป็นเอกสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน ลดโอกาส และมั่นใจในการฟื้นตัวจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการชะงักงัน

มาตรฐานดังกล่าวมีความสำคัญสำหรับองค์กรในการเพิ่มความยืดหยุ่นจากการหยุดชะงักที่ไม่คาดคิดมาก่อน และทำให้มั่นใจว่าการดำเนินงานสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องโดยสามารถช่วยระบุความเสี่ยง การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน และการปรับปรุงระยะเวลาเป้าหมายในการฟื้นคืนสภาพ จึงเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรในด้านความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ  การปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยง และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

– มาตรฐาน ISO 22313, Security and resilience, Business  Continuity Management Systems (BCMS), Guidance on the use of ISO 22301 เป็นมาตรฐานที่ให้คำแนะนำและแนวทางสำหรับการประยุกต์ข้อกำหนดของ BCMS ตามที่กำหนดในมาตรฐาน ISO 22301 โดยมีพื้นฐานอยู่บนแนวปฏิบัติสากลที่ดี

– มาตรฐาน ISO 22300, Security and resilience, Vocabulary เป็นมาตรฐานที่กำหนดคำศัพท์ที่ใช้ในมาตรฐานเกี่ยวกับ Security and resilience ทั้งหมดซึ่งช่วยส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันในคำศัพท์ดังกล่าวเป็นอย่างดี

– เอกสารทางวิชาการ ISO/TS 22317, Security and resilience, Business continuity management systems, Guidelines for business impact analysis เป็นเอกสารที่ให้แนวทางสำหรับองค์กรในการนำไปใช้และรักษากระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (BIA) อย่างเป็นทางการและเป็นเอกสารที่เหมาะสมกับความต้องการโดยไม่ได้กำหนดกระบวนการที่เป็นแบบแผนเดียวกันในการวิเคราะห์

– เอกสารทางวิชาการ ISO/TS 22318, Security and resilience, Business continuity management systems, Guidelines for supply chain continuity management เป็นเอกสารที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำความเข้าใจและขยายหลักการของความต่อเนื่องทางธุรกิจที่มีอยู่ใน  ISO 22301 และ ISO 22313 ไปสู่การจัดการความสัมพันธ์ของซัพพลายเออร์  โดยช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาและจัดทำเอกสารกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทานได้ดียิ่งขึ้น

คณะกรรมการวิชาการของไอเอสโอมีบทบาทสำคัญในการทำให้โลกของเรามีมาตรฐานสากลที่เปรียบเสมือนภาษาสากลที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน ทำให้องค์กรทั่วโลกสามารถรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนได้อย่างการหยุดชะงักของธุรกิจและความเสี่ยงในห่วงโซอุปทาน เป็นต้น

กว่า 70 ปีมาแล้วที่มาตรฐานไอเอสโอของคณะกรรมการวิชาการได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานทั่วโลก มาตรฐานสากลนั้นจะยังคงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนทั่วโลก ตลอดจนให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมากขึ้นต่อไปด้วย

ที่มา:   

1. https://www.isotc292online.org/about-isotc-292/
2.
https://www.iso.org/committee/5259148/x/catalogue/p/1/u/0/w/0/d/0

 573 ผู้เข้าชมทั้งหมด