ไอเอสโอมอบรางวัล LDE ให้ผู้วางรากฐานอนาคตของเอไอ

Share

เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกเป็นอย่างมาก และเอไอก็เป็นเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ  คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย  มีผู้คาดการณ์ไว้ว่าเอไอจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ การว่างงานเพิ่มขึ้น และขาดความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการช่วยงานของมนุษย์ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ป้องกันการทำงานซ้ำซ้อน ช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น และพร้อมให้บริการตลอดเวลา เอไอจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก

ในการประชุมไอเอสโอประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ไอเอสโอจะมอบรางวัลลอเรนซ์ ดี. ไอเคอร์ (Lawrence D. Eicher Leadership Award) ให้แก่เวล วิลเลียม เดียบ ประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคร่วม ISO/IEC JTC 1/SC 42 และฮีทเธอร์ เบนโค ผู้จัดการคณะกรรมการฯ ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนามาตรฐานไอเอสโอด้านเอไออันเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างไอเอสโอกับไออีซีหรือคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์

สำหรับรางวัลลอเรนซ์ ดี. ไอเคอร์ อันทรงเกียรติดังกล่าวได้รับก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 (ค.ศ.2003) เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการวิชาการไอเอสโอหรือคณะอนุกรรมการวิชาการไอเอสโอที่มีการปฏิบัติงานโดดเด่น

รางวัลลอเรนซ์ ดี. ไอเคอร์ได้รับการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแด่ ดร.ลอเรนซ์ ดี.ไอเคอร์ อดีตเลขาธิการไอเอสโอผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวระหว่างปี 2529 – 2545 (ค.ศ.1986-2002) รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ปี

สำหรับคณะกรรมการร่วมด้านเอไอได้รับรางวัลลอเรนซ์ ดี. ไอเคอร์เนื่องจากผ่านเกณฑ์รางวัลในด้านความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ มีแนวทางที่เป็นนวัตกรรมและการจัดการเชิงรุก และมีแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนามาตรฐานสำหรับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยการส่งมอบมาตรฐานเอไออันเป็นเครื่องมือแก่ผู้นำธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายเพื่อสร้างกระบวนการที่มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม มาตรฐานพื้นฐานเหล่านี้จะมอบคุณค่าในระยะยาวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

เวล วิลเลียม เดียบ ให้ความเห็นว่าเป้าหมายของการพัฒนามาตรฐานเอไอคือการสนับสนุนให้มีการนำเอไอไปใช้อย่างกว้างขวางและมีความรับผิดชอบโดยมีมาตรฐานสากลเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมช่องว่างระหว่างภาระผูกพันทางสังคม ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ กับนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม

การทำให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีเอไอจะได้รับการพัฒนาและนำไปใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความท้าทายระดับโลก และเร่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอไปสู่โลกที่ยั่งยืน เสมอภาค และครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับคณะกรรมการด้านเทคนิคร่วม ISO/IEC JTC 1/SC 42 ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับโลกที่มีความหลากหลายจาก 59 ประเทศ ตั้งแต่ประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งในการพัฒนา  ผู้ดูแลกฎระเบียบ ไปจนถึงผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอ

แม้ว่าเส้นทางของเอไอจะยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก แต่ผลกระทบของเอไอนั้นมองเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว  แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเทคโนโลยีที่มีศักยภาพมหาศาลเช่นนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาโลกของเราในทางที่ดีได้

คำตอบคือ การพัฒนาโลกของเราด้วยเทคโนโลยีเอไอนั้นจะต้องมีส่วนสำคัญมาจากมาตรฐานสากลที่คนทั่วโลกนำไปใช้โดยมาตรฐานสากลนั้นได้รับการพัฒนาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกซึ่งมีการสนทนาที่สร้างสรรค์ เปิดกว้าง และมีประสิทธิผล  และช่วยให้ผู้มีบทบาทหลักทุกภาคส่วนในระบบนิเวศของเอไอ นับตั้งแต่นักพัฒนา หน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงผู้ใช้ปลายทาง สามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการส่งเสริมให้เทคโนโลยีเอไอมีศักยภาพมากขึ้น และช่วยให้คนทั่วโลกสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป

ที่มา: 1. https://www.iso.org/contents/news/2023/09/artificial-intelligence-experts.html
2.
https://www.iso.org/lde-award.html

 2,423 ผู้เข้าชมทั้งหมด