ผลการศึกษาพบ “มาตรฐานมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

Share

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า  Menon Economics ได้เปิดเผยผลการศึกษาในเชิงเศรษฐกิจมหภาคเรื่อง “The Value of Standardization” ซึ่งกล่าวถึงประโยชน์ที่สำคัญของมาตรฐานในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจว่า เมื่อพิจารณาหลักฐานจาก 6 ประเทศในยุโรปเหนือแล้ว พบว่า 25 % ของการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในทศวรรษที่ผ่านมามีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานที่เพิ่มขึ้น และพบว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของการส่งออกทั้งหมด 9 % ด้วย

เอเลนา ซานติอาโก ซิด ผู้อำนวยการทั่วไปของ CEN และ CENELEC กล่าวว่าผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการกำหนดมาตรฐานในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มนอร์ดิกและเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมและมีประสิทธิผลสูง และมีการใช้มาตรฐานยุโรปอย่างกว้างขวาง ทำให้ประเทศขนาดเล็กและเปิดกว้างได้รับประโยชน์อย่างมากจากการกำหนดมาตรฐาน เนื่องจากช่วยลดอุปสรรคทางการค้า

การศึกษาดังกล่าวพบว่าการมาตรฐานมีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของการส่งออกโดยรวมที่พบในกลุ่มนอร์ดิกและเนเธอร์แลนด์ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาจำนวน 9 %  และเพิ่มมากขึ้นถึง 25 % ในผลิตภาพแรงงานอันเนื่องมาจากมาตรฐานระหว่างปี 2513 – 2562 (ค.ศ.1970- 2019) ในปัจจุบัน พนักงานแต่ละคน ยังสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 50 ปีที่แล้ว โดย 1 ใน 4 ของการเติบโตของผลผลิตนี้มาจากมาตรฐานโดยตรง

เออวินด์ เวนเนอโรด นักวิเคราะห์อาวุโสของ Menon Economics กล่าวว่ามาตรฐานมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจยุคใหม่ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนนวัตกรรม  การเพิ่มความเข้ากันได้ การยกระดับการประกันคุณภาพ และการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่ยุติธรรม การใช้มาตรฐานขององค์กรต่างๆ ทำให้สามารถควบคุมการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อองค์กรและสังคมได้

การศึกษาดังกล่าวยังได้เน้นย้ำถึงผลกระทบภายนอกเชิงบวกที่สำคัญซึ่งเกิดจากการมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสำคัญของการสร้างแรงจูงใจในการสร้างมาตรฐานเพิ่มเติม รวมทั้งผลกระทบเชิงบวกของการกำหนดมาตรฐานที่มีมากไปไกลกว่าประโยชน์ต่อตัวองค์กรหรือบริษัทเอง ซึ่งมีลูกค้า อุตสาหกรรม และสังคมอีกเป็นจำนวนมากได้ที่ได้รับข้อได้เปรียบที่สำคัญ

ข้อมูลเชิงลึกนี้มีผลกระทบที่มีคุณค่าต่อผู้กำหนดนโยบาย ธุรกิจ และสังคมโดยรวม โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนเชิงรุกและสร้างแรงจูงใจจากรัฐบาลด้วยการเปิดรับและส่งเสริมการสร้างมาตรฐาน ซึ่งสังคมทั้งหมดจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและความก้าวหน้าโดยรวม

รายงานดังกล่าวสรุปว่ามาตรฐานมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเพิ่มผลผลิต รวม 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. มาตรฐานเพิ่มความเข้ากันได้ โดยทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์ ระบบ และองค์กรง่ายขึ้นและคล่องตัว ด้วยการสร้างฉันทามติระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ช่วยขจัดความจำเป็นสำหรับกระบวนการต่างๆ มากมาย ส่งผลให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีประสิทธิภาพ
  2. มาตรฐานปรับปรุงการประกันคุณภาพ โดยกำหนดข้อกำหนดเฉพาะและข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการ มาตรฐานส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รับประกันคุณภาพที่สม่ำเสมอ และอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของข้อผิดพลาดและลดความจำเป็นในการควบคุมคุณภาพเพิ่มเติม
  3. มาตรฐานเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยแนะนำกฎกติกาที่ยุติธรรมทางการค้า มาตรฐานช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลทางเทคนิคขั้นสูงในราคาที่เหมาะสมโดยลดความหลากหลายภายในปัจจัยการผลิต กระจายความรู้ทางเทคนิคในลักษณะที่คุ้มค่า และสร้างความไว้วางใจในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดใหม่
  4. มาตรฐานช่วยเพิ่มนวัตกรรม โดยจัดหาแพลตฟอร์มทั่วไปที่บริษัทและองค์กรต่างๆ สามารถสร้างได้ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีอยู่ใหม่ นอกจากนี้ การพัฒนามาตรฐานยังขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในตัวเอง โดยเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและกระตุ้นการแก้ปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยตลาด
  5. มาตรฐานช่วยให้เข้าถึงตลาดและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเพิ่มความเข้ากันได้ ลดต้นทุนการทำธุรกรรม และการส่งสัญญาณว่าสินค้าที่มีมาตรฐานเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ “มาตรฐาน” ยังใช้เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์อื่นๆ ด้วย เช่น สุขภาพ ความปลอดภัย การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ผู้สนใจผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าของมาตรฐานดังกล่าวข้างต้น สามารถศึกษาผลการวิจัยฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์ของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศนอรเวย์ (Standards Norway: SN)

ที่มา:

1. https://www.cencenelec.eu/news-and-events/news/2023/brief-news/standardization-boosts-productivity-and-trade-a-macroeconomic-study/
2.
https://standard.no/valueofstandards

 4,189 ผู้เข้าชมทั้งหมด