COP28 กับการเงินสีเขียว

Share

ในช่วง 3 ทศวรรษนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดที่ริโอ (เมื่อปี 2535 หรือ ค.ศ.1992) และการเปิดตัวกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ก็ได้มีการจัดประชุม COP ระหว่างประเทศสมาชิกทุกปีซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงปารีสหรือที่เรียกว่า COP21 และมีผลบังคับใช้ในทุกประเทศอันเป็นความร่วมมือระดับโลกในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ที่ 1.5 – 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี 2643 (ค.ศ.2100) และสอดคล้องกับคำแนะนำของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

การปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่มีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทั่วโลก และจากการประชุม COP21 จนถึง COP28  ทั่วโลกมีความพยายามในการจำกัดอุณหภูมิ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเสมอมา

ความพยายามดังกล่าวที่ดูเหมือนจะยังคงไม่เพียงพอ  เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่เมืองดูไบ ประเทศประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ไซมอน สตีลล์ หัวหน้าฝ่ายภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติได้กล่าวในการประชุม COP28 ว่าการประชุมครั้งนี้ว่ามีความจำเป็นต้องเร่งควบคุมภาวะโลกร้อนและยุติวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้ได้ ทั่วโลกต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่มาประชุมเพื่อทำคะแนนหรือหวังผลทางการเมือง และ “เจตนาที่ดี” ก็ไม่ช่วยให้โลกสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งได้

เขาเน้นว่าช่วงเวลาสำคัญในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเช่นนี้ จำเป็นต้องมีความโปร่งใสในการให้ทุนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อน และต้องมีความก้าวหน้าทางการเงินอย่างชัดเจนซึ่งการเงินสีเขียวถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

“การเงินสีเขียว” ช่วยโลกของเราได้

มีรายงานของฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยว่าถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้ยุติกระแสการเงินที่ส่งให้กับภาคส่วนที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติโดยตรง แต่การลงทุนดังกล่าวในปัจจุบันคิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 7% ของจีดีพีโลก

รายงานดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงาน State of Finance for Nature 2023 ซึ่งเป็นการสำรวจพื่อวัดปริมาณกระแสการเงินภาครัฐและเอกชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติ และขอบเขตที่กระแสการเงินสอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลก รวมทั้งการลงทุนที่จำเป็น เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับวิกฤตการณ์ที่เชื่อมโยงถึงกันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของที่ดิน

รายงานดังกล่าวทำให้เห็นความไม่สมดุลระหว่างการลงทุนของภาคเอกชนที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติที่มีสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีกับการลงทุนที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีเพียง 35 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หมายความว่าทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการปกป้องธรรมชาติ จะมีการลงทุน 140 ดอลลาร์ในกิจกรรมที่สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ  ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม 5 สาขาที่มีส่วนในการทำให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติเกือบครึ่งหนึ่ง ได้แก่ 1) การก่อสร้าง 2) สาธารณูปโภคไฟฟ้า 3) อสังหาริมทรัพย์ 4) น้ำมันและก๊าซ 5) อาหารและยาสูบ

สถานการณ์เช่นนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงบวก ซึ่งนิกิ มาร์ดาส กรรมการบริหารของบริษัท Global Canopy (พันธมิตรของ UNEP) ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า มีสถาบันการเงินเพียง 20% (จากสถาบันการเงินกว่า 700 แห่ง) ที่มีข้อผูกพันระดับสูงในการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

นิกิ มาร์ดาส ยังได้เน้นว่าการดำเนินการขนานใหญ่ที่สุดเพียงอย่างเดียวที่เราจะทำได้เพื่อธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ และผู้คนก็คือ “การเงินสีเขียว” และเราจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนสีเขียวซึ่งต้องมีถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

มาตรฐานเพื่อการเงินสีเขียว
สำหรับมาตรฐานเกี่ยวกับการเงินสีเขียวซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้รับการจัดสรรไปกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น ไอเอสโอได้พัฒนาขึ้นมาหลายฉบับ เช่น
ISO 32210, Sustainable Finance, Guidance on the application of sustainability principles for organizations in the financial sector
ISO 14093, Mechanism for financing local adaptation to climate change, Performance-based climate resilience grants, Requirements and Guidelines
ISO 14100, Guidance on environmental criteria for projects, assets and activities to support the development of green finance
ISO 14030-1, Environmental performance evaluation, Green debt instruments, Part 1: Process for green bonds
ISO 14030-2, Environmental performance evaluation, Green debt instruments, Part 2: Process for green loans

เป็นต้น

สำหรับท่านที่สนใจความรู้ หรือบริการด้าน ESG  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โทรศัพท์ 026171723 – 36  ต่อ 213 – 214 หรือ Email: 2SD@masci.or.th 
ที่มา:   1. https://esgnews.com/event/cop-28-2023/
2.
https://news.un.org/en/story/2023/12/1144597

 874 ผู้เข้าชมทั้งหมด