กรณีตัวอย่าง ISO 14001 : กรณีตัวอย่างที่ 3 (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์)

1. บริษัท C จำกัด

  • ข้อมูลทั่วไปของสถานประกอบการ

บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิกส์ให้กับลูกค้าต่างประเทศ 100% โดยประเทศที่ส่งออกมากที่สุดได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา บริษัทก่อตั้งในปี พ.ศ.2532 ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 4,346 คน

ทางบริษัทฯ ได้จัดทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 มาก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 (ได้รับการรับรองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 และได้รับการรับรองครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2549) ซึ่งบริษัทเห็นว่ามาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานพื้นฐานของระบบการจัดการต่าง ๆ และง่ายที่จะทำการรวมระบบต่าง ๆ อย่างระบบ ISO 9001, ISO 14001 และ OHSAS 18001 ไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการในบริษัทได้อย่างสะดวก

บริษัทมีการประชุมทบทวนของฝ่ายบริหารจำนวน 2 ครั้งต่อปี และมีการตรวจติดตามภายในของระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 2 ครั้งต่อปีเช่นกัน เพื่อเป็นการติดตามความเหมาะสมของระบบต่าง ๆ ภายในบริษัท

  • ก่อนการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001)

ในช่วงแรกของการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทยังไม่ประสบปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจในการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) เนื่องจาก

  1. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  2. นโยบายของบริษัทแม่ (สำนักงานใหญ่) ให้บริษัทในเครือทุกประเทศจัดทำมาตรฐานระบบดังกล่าว
  3. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในบริษัท
  4. บริษัทมีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบริษัทและชุมชนใกล้เคียง รวมถึงสุขภาพของพนักงาน
  5. บริษัทต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม
  6. บริษัทต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
  7. บริษัทต้องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของภาครัฐและประเทศคู่ค้า
  8. บริษัทต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

ซึ่งบริษัทฯ ได้ขอการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งขณะที่เริ่มต้นจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 นั้น ทางบริษัทฯ ไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำระบบดังกล่าว แต่ใช้การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำการจัดทำระบบตามมาตรฐานสากล (Training Led by Consultancy: TLC) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยบริษัทใช้เวลาในการจัดทำมาตรฐานระบบ ISO 14001 รวม 6 เดือน

นอกจากนี้ทางบริษัทได้จัดฝึกอบรมความรู้ความสามารถทางด้านมาตรฐาน ISO 14001 ให้กับพนักงาน โดยจัดให้มีการอบรมโดยใช้วิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกบริษัท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ไว้ประมาณ 55,000 บาทต่อปี นอกจากค่าใช้จ่ายในการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 14001 แล้ว บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมิน และการรักษาระบบ (Survillance) รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 150,000 บาท

  • สถานการณ์การนำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004) มาใช้ในบริษัท

  • สิ่งที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

หลังการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) บริษัทสามารถนำลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาประเมินลำดับความสำคัญเพื่อจัดทำเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งผลที่ได้รับจากการจัดทำมาตรฐานและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ คือ มีการตรวจวัดค่าน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ค่ามลพิษที่ปนเปื้อนในดิน การลดและการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมนอกจากจะช่วยทำให้บริษัทฯ สามารถประเมินลำดับความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในบริษัทได้แล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อมให้กับบริษัทด้วย เนื่องจากภาพลักษณ์ของบริษัทแสดงออกในลักษณะของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงลูกค้ามีความพอใจมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้สูงขึ้น

นอกจากผลตอบรับที่ดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว มาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับบริษัทฯ โดยสะท้อนในรูปของ

  1. การลดค่าไฟภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 10
  2. การลดค่าน้ำภายในองค์กรจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 20
  3. การลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียจากเดิมก่อนการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 ร้อยละ 20

ทั้งนี้เมื่อได้นำมาตรฐานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาปฏิบัติแล้ว ทางบริษัทถือว่ามีความคุ้มค่ามาก เนื่องจากบริษัทสามารถลดต้นทุนเกี่ยวกับค่าน้ำและค่าไฟ รวมถึงสามารถลดของเสียและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้

  • แนวโน้มของมาตรฐานและระเบียบ/ข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อบริษัท

บริษัทมีแนวโน้มในการจัดทำระเบียบ RoHS และ QC080000 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการงดใช้สารอันตราย 6 ประเภทในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ เหตุผลที่บริษัทมีการเตรียมพร้อมในการจัดทำระเบียบดังกล่าวข้างต้น เนื่องจาก

  1. ต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด
  2. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของภาครัฐ
  3. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศคู่ค้า
  4. เป็นความต้องการของผู้บริหารภายในองค์กร

ปัจจุบันบริษัทส่งผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศต้องมีการทดสอบสารอันตรายในผลิตภัณฑ์เป็นระยะ ๆ โดยบริษัทจะส่งผลิตภัณฑ์ให้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ตรวจสอบทุก ๆ 3 เดือน นอกจากนี้บริษัทยังมีการตรวจสอบโดยใช้เครื่อง X-Ray Fluorescence Spectroscopy (XRF) ในการตรวจสอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อหาปริมาณสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ โดยส่งให้ห้องปฏิบัติการเครื่องมือทดสอบทั่วไป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ตรวจสอบ

  • ปัญหาและอุปสรรคจากการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001:2004)

ช่วงเริ่มต้นของการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ทางบริษัทฯ ไม่พบปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับแรงต่อต้านจากพนักงาน เนื่องจากมีการจัดตั้งทีมงานเฉพาะส่วนที่รับผิดชอบและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบ และการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานระบบต่าง ๆ กับพนักงานในบริษัท ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้มีการรวมระบบต่าง ๆ (Intergrated) อย่าง ISO 9001, ISO 14001 และ OHSAS 18001 เพื่อให้สะดวก และง่ายต่อการปฏิบัติงาน

  • ข้อเสนอแนะ
  1. เมื่อภาครัฐออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือมีการปรับปรุงกฎหมายเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว
    • ภาครัฐควรเสนอทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการปฏิบัติเพื่อให้มีความสอดคล้องตามกฎหมายนั้น ๆ และสำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจมาแล้วควรให้ระยะเวลาในการปรับตัว เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการจัดระบบหรือปรับปรุงระบบการทำงานใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย
    • มีหน่วยงาน หรือผู้รับผิดชอบที่ให้คำปรึกษาแนะนำ หรืออธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายนั้น ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ลักษณะเป็นศูนย์รวบรวมและตีความกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางครั้งผู้ประกอบการยังมีความเข้าใจในตัวกฎหมายที่ออกใหม่นั้นไม่ชัดเจน
  2. ควรมีช่องทางนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎหมาย รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการโดยตรง เนื่องจากผู้ประกอบการอาจทราบไม่ครอบคลุมทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรฐาน และข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ
  3. ควรมีโครงการให้เยี่ยมชมสถานประกอบการดีเด่นเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ต่อไป
  4. สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 นั้น ภาครัฐควรมีโครงการหรือแผนงานสนับสนุนผู้ประกอบการนั้น ๆ ในลักษณะของการช่วยเหลือในเบื้องต้น หรือการเอื้อสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการนั้น ๆ