กรณีตัวอย่าง ISO 9001 : กรณีตัวอย่างที่ 9 (โรงเรียน)

1. ข้อมูลทั่วไป
โรงเรียน ก่อตั้งขึ้นในปี 2450 เป็นโรงเรียนหนึ่งในเครือของคณะภคินี เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (SOEURS DE SAINT PAUL DE CHARTRES) ซึ่งเป็นกลุ่มคณะนักบวชสตรีในคริสตศาสนาที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2441 เข้ามาเผยแพร่ธรรมและช่วยส่งเสริมงานพัฒนาสังคมไทยด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ยากไร้

แนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน หลังจากได้รับการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2480 แล้ว โรงเรียนได้ยึดหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแม่บทในการเรียนการสอนตลอดมา โดยมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความรู้และความสามารถ มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ

นอกจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาแล้ว โรงเรียนได้ยึดปรัชญาทางการศึกษาของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นแนวทางควบคู่ไปในการอบรมสั่งสอน ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นที่รู้จักและสามารถจะดำเนินชีวิตของตนไปในทางที่ดี มีวินัย สุภาพ เรียบง่ายและมีเมตตาธรรม รวมถึงเน้นส่งเสริมคุณค่าของจริยธรรมและคุณธรรมให้บังเกิดขึ้นในตัวของนักเรียนแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอและตลอดไป

ปัจจุบัน โรงเรียนเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีแบ่งประเภทการศึกษาเป็น 2 แบบ คือ

  • การเรียนการสอนหลักสูตรภาษาไทย มีนักเรียนประมาณ 4,800 คน
  • การเรียนการสอนหลักสูตรสองภาษา (Bilingual) มีนักเรียนประมาณ 1,000 คน

โรงเรียนมีอาจารย์ผู้ดูแลการเรียนการสอน 273 คน และเจ้าหน้าที่ทั่วไป 96 คน ซึ่งโรงเรียนมีผลงานด้านการศึกษาเป็นที่ยอมรับจนได้รับพระราชทานรางวัลจัดการศึกษาดีเด่นระดับชาติ 4 โดยรางวัลสำคัญที่ได้รับมีดังนี้

  • รางวัลพระราชทานจัดการศึกษาดี ประเภทประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประจำปีการศึกษา 2511,2513 และ 2515
  • รางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2529
  • รางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2537
  • รางวัลพระราชทานการจัดห้องสมุดดีเด่นระดับมัธยมศึกษาประจำปี พ.ศ. 2532 และ 2542
  • รางวัลสถานศึกษาที่จัดจริยศึกษาดีเด่น ประจำปีการศึกษา 2541 จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังคปรินายก

2. วิสัยทัศน์และกลยุทธ์
โรงเรียนถือเป็นอง์กรที่ไม่แสวงหากำไร ดังนั้นวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ของโรงเรียนจึงแตกต่างจากองค์กรธุรกิจอื่นๆ โดยผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เพื่อมุ่งเน้นที่การพัฒนาและบริหารการศึกษาให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ

3. การพัฒนาระบบ ISO 9001 มาใช้ในองค์กร
จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียน มีวิสัยทัศน์เพื่อต้องการพัฒนาและบริหารการศึกษาให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ในปี 2541 จึงได้เริ่มนำระบบ ISO 9002: 1994 ในการบริหารจัดการคุณภาพในโรงเรียน และ ISO 14001: 1996 มาใช้ในโรงเรียน จนถึงปี 2544 และแม้ว่ายังไม่ได้ขอการรับรองระบบ ISO แต่ในช่วงระหว่างนั้นโรงเรียนก็ยังพยายามรักษาระบบการทำงานให้สอดคล้องกับระบบ ISO 9002

จนกระทั่งในปี 2548 ทางโรงเรียนได้เริ่มนำระบบ ISO 9001 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการจัดคณะที่ปรึกษามาให้คำแนะนำในการนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในโรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนที่จะได้รับขอการรับรองระบบ ISO 9001 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549

4. ผลที่เกิดขึ้นหลังการจัดทำระบบ ISO 9001
1) ด้านการเงิน
โรงเรียนเป็นองค์กรที่ดำเนินการเพื่อสังคมและไม่มุ่งหวังผลกำไร (Non-Profit Organization) จึงให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้และผลกำไรน้อยมาก ดังนั้นจึงทำให้การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในโรงเรียนกับผลลัพธ์ด้านการเงินมีความสัมพันธ์กันน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การนำระบบดังกล่าวมาประยุกต์ ได้ส่งผลต่อการลดลงของค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่และอาจารย์ที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการทำงานของกิจกรรมหลักตามคู่มือการปฏิบัติงาน ทำให้การทำงานมีมาตรฐานและลดความซ้ำซ้อนของงานลงได้ ผู้ที่มาติดต่อหรือนักเรียนหรือผู้ปกครองมีความเข้าใจขั้นตอนการติดต่องานมากขึ้น ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการให้บริการงานติดต่อได้

2) ด้านลูกค้า
ลูกค้าของโรงเรียนได้แก่ ผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งมีการวัดความพึงพอใจของลูกค้าเสมอ ทั้งการวัดความพึงพอใจในแต่ละกิจกรรม และการวัดความพึงพอใจในภาพรวมซึ่งเป็นการวัดผลผู้ปกครอง โดยวัดผลปีละ 2 ครั้งตามภาคการศึกษา ทั้งนี้ การวัดความพึงพอใจในภาพรวมใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ แบบสอบถามนี้ได้มีการพิจารณาและปรับปรุงให้มีความเหมาะสมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปีการศึกษา 2549 ภาคเรียนที่ 1 มีเป้าหมายให้ผู้ปกครองมีความพึงพอใจในระดับดี-ดีมาก ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ซึ่งมีผลสรุปได้ดังนี้

ตารางที่ 1 ผลการวัดความพึงพอใจลูกค้าของโรงเรียน


จากตารางข้างต้นพบว่า ความพึงพอใจของผู้ปกครองในด้านต่างๆ สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนมีความเห็นว่าในอนาคตต้องมีการปรับเป้าหมายให้สูงขึ้น และให้ความสำคัญในบางประเด็นที่มีระดับความพึงพอใจไม่สูงมากนัก เพื่อเป็นการกระตุ้นในการทำงานและหาทางป้องกันแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

อนึ่ง ทางโรงเรียนมีความเห็นว่าระบบ ISO 9001 มีผลต่อการสร้างความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียนมากในด้านการจัดการคุณภาพการเรียนการสอน แม้ว่าโดยปกติแล้วโรงเรียนมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติอยู่แล้ว แต่การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในโรงเรียนทำให้มีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน สร้างภาพลักษณ์ของโรงเรียนในด้านการจัดการตามระบบมาตรฐาน และระบบ ISO 9001 ยังมีผลต่อความสามารถในการให้บริการ ตัวอย่างเช่น การสร้างระบบความปลอดภัยในโรงเรียนที่มีการตรวจสอบที่ชัดเจนและเข้มงวด และทำให้การตรวจสอบและแก้ไขข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

3) ด้านกระบวนการจัดการภายใน
ผู้บริหารของโรงเรียนมีความเห็นว่า ระบบ ISO 9001 มีผลกระทบต่อกระบวนการจัดการภายในโรงเรียนมากที่สุดใน 3 ด้านคือ ด้านการสื่อสาร การจัดการเอกสาร และการบริหารจัดการ

ด้านการสื่อสารในองค์กร ระบบ ISO 9001 มีผลต่อการรับรู้นโยบาย วัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานมากขึ้น รวมถึงทำให้มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน เช่น ขั้นตอนการสอบวัดผลประจำภาคการศึกษา

ด้านการจัดการเอกสาร ช่วยให้มีแนวทางในการจัดการกับเอกสารที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหมวดหมู่เอกสาร การกำหนดเอกสารที่จำเป็น และระยะเวลาการจัดเก็บเอกสารแต่ละประเภท ทำให้หาง่ายและตรวจสอบได้รวดเร็ว รวมถึงอาจารย์และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามขั้นตอน ในกรณีที่มีคนใหม่เข้ามาก็สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยป้องกันความผิดพลาดในการทำงานได้

ด้านการบริหารจัดการ มีกระบวนการในการดำเนินงานหลายขั้นตอน ซึ่งระบบ ISO 9001 มีผลกระทบมากในหลายด้าน เช่น กระบวนการจัดซื้อสินค้าและการจัดจ้างบุคคลภายนอก (Outsource) มีขั้นตอนการดำเนินงานกับซัพพลายเออร์ (Supplier) ที่ชัดเจน ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การตรวจสอบสินค้า และการประเมินซัพพลายเออร์ (Supplier) ซึ่งทำให้ได้รับสินค้าและการบริการที่มีคุณภาพจากซัพพลายเออร์ (Supplier) และบุคคลภายนอก (Outsource) ที่มีศักยภาพ ส่วนกระบวนการเรียนการสอน มีการวางแผนการเรียนการสอนประจำปี (Action Plan) ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยป้องกันการสูญเสียเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงการให้บริการอื่นแก่ผู้ปกครองและนักเรียน เช่น การแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนต่างๆ ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะหลังจากเริ่มนำระบบ ISO 9001 เข้ามาใช้ ทางโรงเรียนได้มีการกำหนดการประชุมคณะทำงานทุกวันพฤหัสบดี เพื่อนำเสนอถึงผลการทำงาน ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น จึงทำให้เรื่องราวต่างๆ ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

ในส่วนของคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นมีคุณภาพสูงอยู่แล้ว วัดได้จากจำนวนนักเรียนมัธยมปลายที่สามารถสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ร้อยละ 100 เพราะนักเรียนส่วนใหญ่เริ่มเข้ามาเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบมัธยมปลาย จึงได้รับการความรู้และการปลูกฝังที่ดี และในอนาคตมีแผนในการติดตามผลนักเรียนของโรงเรียนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยและได้เข้าทำงานในองค์กรต่างๆ ด้วย สำหรับการวัดผลในแต่ละภาคการศึกษา มีเป้าหมายให้นักเรียนแต่ละคนต้องมีผลการทดสอบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งนักเรียนทั้งหมดก็ผ่านการทดสอบ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีนักเรียนที่มีผลการทดสอบไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรืออยู่ในระดับต่ำ ทางโรงเรียนจะใช้วิธีการประชุมกับผู้ปกครองเพื่อหาแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้นต่อไป

โดยการนำระบบ ISO 9001 มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียน ทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ มีความชัดเจนและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและผู้มาติดต่อ ทั้งที่เป็นนักเรียน/ผู้ปกครอง และบุคคลภายนอกอื่น ๆ ได้รับบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดปัญหาความขัดแย้งและข้อร้องเรียนในการให้บริการ มีการพัฒนากระบวนการทำงานต่าง ๆ โดยการหารือร่วมระหว่างอาจารย์และผู้บริหารอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนและสื่อสารให้ทราบถึงกัน ทำให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ ร่วมทั้งการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

4) การเรียนรู้และพัฒนา
ในด้านการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของบุคลากรโดยปกติแล้วทางโรงเรียนมีการกำหนดคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนไว้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ 4 ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในโรงเรียนทำให้ประเมินผลชัดเจนว่าบุคลากรสามารถการนำความรู้ไปใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้เกิดโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการทำงานและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความพึงพอใจของบุคลากร แม้ว่าจะไม่มีการวัดความพึงพอใจ แต่จากการที่ได้ทำงานร่วมกันและวัฒนธรรมภายในองค์กร ทำให้เห็นได้ว่าบุคลากร ส่วนใหญ่มีอัตราการลาออกน้อยมาก ยกเว้นอาจารย์ผู้สอนที่เข้ามาใหม่บางส่วนที่ลาออกเพราะสอบบรรจุเข้าในโรงเรียนสังกัดราชการได้ รวมถึงด้านเทคโนโลยีและระบบสารเทศที่มีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ไม่มากนัก ซึ่งการใช้ระบบ ISO 9001 ยังมีผลต่อเรื่องนี้น้อยมาก

5. ปัญหาอุปสรรคขององค์กร
ในช่วงแรกที่นำระบบ ISO 9002 ในโรงเรียน ประสบอุปสรรคในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและการจัดทำเอกสารซึ่งเป็นงานใหม่ยังไม่คุ้นเคย ทำให้มีภาระงานที่ต้องทำมากขึ้น สำหรับการนำระบบ ISO 9001 มาใช้ยังมีอุปสรรคด้านการตีความข้อกำหนดและการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจาก ISO 9001 ทำให้มีแผนการทำในแต่ละขั้นตอนและช่วงเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน ดังนั้นอาจมีผลทำให้กระบวนการทำงานต้องเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม อาจารย์ผู้สอนและเจ้าหน้าที่สามารถปรับตัวในการทำงานและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกอบรมให้แก่คณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น

6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การนำระบบ ISO 9001 มาใช้ในโรงเรียนนั้นมีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นถึงภาพกว้างและส่วนย่อยในโรงเรียน รวมถึงจุดเด่น จุดด้อยในการทำงาน ซึ่งการประชุมในองค์กรเป็นระยะๆ ได้ทำให้สามารถหาทางปรับปรุงแก้ไขอย่างทันท่วงที และทำให้การปฏิบัติงานมีความชัดเจนทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนการทำงาน นอกจากนี้ ระบบ ISO 9001 นี้ เป็นเครื่องมือในการบริหารสถานศึกษาได้ และโรงเรียนอื่นๆ ควรนำไปประยุกต์ใช้เช่นกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน

สำหรับโรงเรียนหรือองค์กรอื่นๆ ที่ต้องการนำระบบ ISO 9001 ไปใช้ในองค์กร ควรให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถและความทุ่มเทในการทำงาน และชี้ให้บุคลากรเห็นถึงประโยชน์ของระบบ ISO 9001