“มาตรฐานไอเอสโอ” ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างไร

Share

โดยทั่วไป “มาตรฐาน” ปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอจนบางครั้งเราอาจมองข้ามความสำคัญของมาตรฐานไป อันที่จริงแล้ว  มาตรฐานที่เราพบเห็นกันทุกวันนี้มีอยู่นับไม่ถ้วนซึ่งช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ นับตั้งแต่อาหาร ข้าวของเครื่องใช้จำพวกอุปกรณ์เทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ไปจนถึงการดูแลสุขภาพ และยานพาหนะอัจฉริยะ เป็นต้น  ซึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจากสิ่งของเหล่านี้มักจะได้รับการกำหนดรูปแบบ ขับเคลื่อน และชี้นำโดย “มาตรฐาน” นั่นเอง

ทั้งนี้ เนื่องจากในการกำหนดมาตรฐานสากลของไอเอสโอได้มีการกำหนดรูปลักษณ์ที่ดี มีความสอดคล้องกันสำหรับธุรกิจและผู้บริโภค  สร้างความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และทำให้ผู้คนสามารถตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้นโดยไอเอสโอได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานเพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และดีขึ้น

ไอเอสโอพัฒนาเอกสารมาตรฐานอย่างไร
มาตรฐานไอเอสโอได้รับการพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ซึ่งเข้าร่วมในคณะกรรมการวิชาการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องโดยแต่ละคณะก็มีการประชุมกันหลายครั้งในแต่ละปีเพื่อปรึกษาหารือและลงคะแนนเสียงตามแนวทางวิธีการที่เป็นมาตรฐานของไอเอสโอซึ่งประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การนำเสนอให้พิจารณาจัดทำร่างมาตรฐาน การจัดเตรียมร่างมาตรฐาน  การพิจารณาของคณะกรรมการให้จัดทำเป็นร่างมาตรฐาน การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างมาตรฐาน การให้ความเห็นชอบร่างมาตรฐาน และการเผยแพร่มาตรฐาน

เอกสารมาตรฐานไอเอสโอมีรูปแบบอะไรบ้าง
1. มาตรฐานสากล (International Standard: IS) เป็นกฎ แนวทาง หรือคุณลักษณะสำหรับกิจกรรมหรือผลลัพธ์ โดยมุ่งเป้าไปที่การบรรลุระดับความเป็นระเบียบที่เหมาะสมที่สุดในบริบทที่กำหนดซึ่งอาจมีได้หลายรูปแบบ นอกจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีตัวอย่างอื่นอีก  เช่น วิธีทดสอบ หลักปฏิบัติ มาตรฐานแนวปฏิบัติ และมาตรฐานระบบการจัดการ
เป็นต้น

  1. ข้อกำหนดทางเทคนิควิชาการ (Technical Specification: TS) กล่าวถึงการทำงานที่ยังอยู่ภายใต้การพัฒนาทางเทคนิควิชาการ หรือในกรณีที่เชื่อกันว่าจะมีความเป็นไปได้ในอนาคตซึ่งยังไม่ได้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรฐานสากลในทันที แต่จะเป็นข้อมูลเฉพาะทางเทคนิคที่ได้รับการเผยแพร่เพื่อการใช้งานเท่านั้น และจะมีการรับข้อเสนอแนะด้วยเพื่อที่จะมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเผยแพร่ในรูปแบบของมาตรฐานสากลต่อไป
  2. รายงานทางเทคนิควิชาการ (Technical Report: TR) ประกอบด้วยข้อมูลประเภทที่แตกต่างจากมาตรฐานสากลและข้อกำหนดทางเทคนิควิชาการซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจ เช่น รายงานข้อมูล หรือข้อมูลที่รับรู้ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือความทันสมัย
  3. ข้อกำหนดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ (Publicly Available Specification: PAS) ได้รับการเผยแพร่เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของตลาด โดยแสดงถึงฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญภายในคณะทำงาน หรือฉันทามติขององค์กรภายนอกไอเอสโอ

ข้อกำหนดที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับรายงานทางเทคนิควิชาการคือเป็นเอกสารที่ได้รับการเผยแพร่เพื่อการใช้งานทันที และสามารถรับข้อเสนอแนะมาเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นมาตรฐานสากลต่อไปได้ด้วย สำหรับข้อกำหนด PAS นี้จะมีอายุการใช้งานสูงสุดถึง 6 ปี  หลังจากนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นมาตรฐานสากลหรือมีการเพิกถอนได้

มาตรฐานช่วยอะไรเราได้บ้าง
“มาตรฐาน” ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่เราใช้นั้นมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำธุรกิจต่างๆ ให้นำหลักปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมไปใช้ ซึ่งช่วยให้การซื้อสิ่งของต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยปกป้องโลกของเราด้วย โดยพื้นฐานแล้ว กล่าวได้ว่า มาตรฐานได้ผสมผสานคุณภาพเข้ากับมโนธรรมได้อย่างลงตัวซึ่งยกระดับประสบการณ์และทางเลือกในแต่ละวันของเราได้เป็นอย่างดี

มาตรฐานส่งผลกระทบเกือบทุกด้านต่อชีวิตของเรารวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย  มาตรฐานช่วยให้ผู้คนทำงานกับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ระบบการจัดการได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ ตลอดจนช่วยพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพชีวิตด้วย

อาจกล่าวได้ว่ามาตรฐานไอเอสโอนั้นเป็นสายใยที่มองไม่เห็นแต่สามารถเชื่อมโยงโลกของเราให้มีความปลอดภัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อมโยงกันมากขึ้นด้วยการสร้างความมั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัย และความสามารถในการทำงานร่วมกัน มาตรฐานไอเอสโอจึงช่วยให้ธุรกิจและองค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่มีข้อมูลครบถ้วนไปพร้อม ๆ กับการทำให้ผู้ผลิตมีเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับท่านที่สนใจความรู้หรือบริการเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัทหรือองค์กร  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายหน่วยตรวจ โทรศัพท์ 026171723 – 36  หรือ Email: IBD@masci.or.th

ที่มา:   

1. https://ansi.org/standards-news/standards-impact
2.
https://www.isotc292online.org/projects/the-iso-standardization-process/

 216 ผู้เข้าชมทั้งหมด